ภาพข่าวและกิจกรรม

1

17 สิงหาคม 2563 - ปทุมธานี / องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์แบบ One Day Camp ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชนชั้น ป. 4 - ป. 6  มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม เปิดรับสมัครทุกวันอังคาร - วันศุกร์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

2

          ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า โดยปกติ อพวช. จะได้รับความไว้วางใจจากโรงเรียนทั่วประเทศ สำหรับการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรต่าง ๆ ให้กับโรงเรียน พร้อมกับในขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการยังได้พิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อพวช. จึงได้เปิดตัวกิจกรรม One Day Camp จำนวน 4 โปรแกรมสำหรับโรงเรียน ในชั้นประถมศึกษาระดับชั้น ป.4 - ป.6 ในรูปแบบ New Normal ลดความแออัด โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าค่ายละ 20 - 30 คน ยึดหลักมาตรฐานการคัดกรองความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เปิดรับจองกิจกรรมค่ายทุกวันอังคาร - วันศุกร์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นไป

34

สำหรับค่ายทั้ง 4 ประกอบไปด้วย

  •           - วันอังคาร ค่าย “สนุกกับการบิน” เรียนรู้วิวัฒนาการการบิน ปลดปล่อยจินตนาการปลุกความเป็นนักคิดสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรม กับการประดิษฐ์แบบจำลองเครื่องบินในอนาคต
  •           - วันพุธ ค่าย “มนุษย์ไฟฟ้า” เรียนรู้และลงมือต่อวงจรไฟฟ้าด้วยตัวเอง พร้อมชมนิทรรศการไฟฟ้า
  •           - วันพฤหัสบดี ค่าย “ส่องโลก จุลินทรีย์ตัวจิ๋ว” มาหาคำตอบเกี่ยวกับความหลายหลายของเชื้อจุลินทรีย์ การนำมาใช้ประโยชน์ รวมถึงโทษของจุลินทรีย์กับการเกิดโรค
  •           - วันศุกร์ ค่าย “ฮัลโหล ได้ยินไหม” เรียนรู้หลักการการเกิดเสียง การรับรู้ได้ยินรวมถึงเสียงมีความพิเศษอย่างไร
  • 5

          สำหรับโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมค่าย One Day Camp สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.nsm.or.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02 577 9999 ต่อ 2124

ข้อมูลข่าวโดย : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313

1

          (24 กรกฎาคม 2563) ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยของชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ของทั่วโลกว่า ในสัปดาห์นี้มีข้อมูลสำคัญที่น่าตื่นเต้นมาตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่ให้ผลน่าพอใจ โดยเฉพาะวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนคา ประเทศอังกฤษ และวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทแคนไซโน ประเทศจีน พบว่าวัคซีนทั้งสองแบบนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในอาสาสมัคร และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ประกอบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีรายงานผลการทดสอบวัคซีนของบริษัทโมเดิร์นนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งผลดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ใช้งานได้ โดยในขณะนี้มีวัคซีนที่กำลังทดสอบในมนุษย์ถึง 30 แบบ ซึ่งวัคซีนอย่างน้อยแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายๆแบบน่าจะใช้งานได้ และการพัฒนาวัคซีนในช่วงต่อไปก็จะเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 3 ในประชากรจำนวนมากเพื่อดูผลในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะได้รับการรับรองเพื่อใช้งานทั่วไป

          เลขาธิการ วช. กล่าวต่อว่า การทดสอบในช่วงต่อไป จะติดตามว่าภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน รวมทั้งติดตามโดยละเอียดในเรื่องความปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และที่สำคัญจะต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้นจะไม่ติดเชื้อโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน เพราะในการทดสอบที่รายงานกันนี้เป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการว่ามีระดับแอนติบอดีหรือมีภูมิคุ้มกันด้านเซลล์เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้จะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาติดตามพอสมควรเพื่อให้มั่นใจ นอกจากนี้ยังต้องเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย

2

          ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่น่าจะมีวัคซีนที่ใช้งานได้จริงโดยผ่านการทดสอบครบทุกขั้นตอนและผลิตได้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับคนจำนวนมากซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกได้คาดเอาไว้นั้น น่าจะเป็นในกลางปีหน้าเป็นต้นไป ในช่วงต้นปี 2564 จะเริ่มมีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่พร้อมใช้ในคน แต่จะยังคงมีจำนวนจำกัด หลังจากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีวัคซีนจำนวนมากเพียงพอ

          ในเรื่องรูปแบบการใช้งานและราคานั้น วัคซีนแต่ละแบบที่กำลังทดสอบอยู่ในขณะนี้ให้ผลที่ใกล้เคียงกันโดยส่วนใหญ่จะเห็นผลว่ามีระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอหลังฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ดังนั้นจึงคาดว่าจะต้องฉีดวัคซีนคนละ 2 ครั้ง ห่างกันหนึ่งเดือน และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ได้มีการเปิดเผยผลการเจรจาสำคัญที่บ่งบอกถึงแนวโน้มราคาของวัคซีน โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตกลงสั่งซื้อวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทไบออนเทค ประเทศเยอรมนี ร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าหากวัคซีนประสบความสำเร็จโดยระบุราคาของวัคซีนไว้เลย ทั้งนี้ได้สั่งซื้อวัคซีนจำนวน 100 ล้านเข็ม (สำหรับฉีดในคน 50 ล้านคน) ที่ราคา 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับเข็มละ 20 เหรียญสหรัฐ "ประเมินกันตอนนี้ ว่า วัคซีนโควิด-19 จะราคา 20 เหรียญหรือ 620 บาท ฉีดคนละ 2 เข็ม เท่ากับค่าวัคซีน 1,240 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการคาดการณ์ราคาวัคซีนออกมา เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการจองวัคซีนกันเป็นกึ่งการให้ทุนวิจัยแต่ไม่ได้ระบุราคาของวัคซีนเอาไว้" "ซึ่งราคาดังกล่าวนี้ใกล้เคียงกับราคาของวัคซีนไข้หวัดใหญ่" นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าว 

3

          สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างคู่ขนานกันทั้งสามแนวทาง คือ การพัฒนาวัคซีนในประเทศ และการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิควัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วจากต่างประเทศเพื่อให้ผลิตได้เพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งการเตรียมจัดหาวัคซีนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ข้อมูลข่าวโดย : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313

1

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนา เรื่อง “การวัดประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องทำน้ำเย็นอย่างถูกต้อง และแนวปฏิบัติที่ดีในการสอบเทียบ เพื่อยกระดับความถูกต้องของการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการประหยัดพลังงาน” ในวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

456

          ซึ่งการจัดงานสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยในโครงการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การตรวจวัดประสิทธิภาพของเครื่องทำน้ำเย็นเป็นไปตามมาตรฐาน และมีความถูกต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือเป็นไปตามข้อตกลง (< 5 %) ที่ระบุไว้ว่าเครื่องวัดในระบบทำน้ำเย็นต้องได้รับการทวนสอบหรือสอบเทียบอย่างถูกต้อง

9

          คณะนักวิจัยซึ่งประกอบไปด้วย 1.ดร.ธาดา แก้วประเสริฐ  นักมาตรวิทยาฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง 2.ดร.ธัญญา คชวัฒน์ นักมาตรวิทยาฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า และ 3.ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เทพ นักมาตรวิทยาฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล จึงได้พัฒนาคู่มือแนวปฏิบัติที่ดีในการทวนสอบหรือสอบเทียบเครื่องวัดในระบบทำน้ำเย็นจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งได้แก่ 1.คู่มือการสอบเทียบที่หน้างานของเครื่องวัดอุณหภูมิที่เครื่องทำน้ำเย็น 2.คู่มือการทวนสอบเครื่องมือวัดกำลังไฟฟ้าที่ติดตั้งหน้างาน 3.คู่มือการสอบเทียบและการทวนสอบเครื่องมือวัดอัตราการไหลน้ำเย็นที่เครื่องทำน้ำเย็น เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนให้สามารถใช้เป็นแนวทางในการใช้งานได้จริง โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ. - สกว. ภายใต้ “โครงการการศึกษาผลของการวัดประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องทำน้ำเย็นที่ถูกต้อง และพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อยกระดับความถูกต้องของการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการประหยัดพลังงาน”จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งภายในงานสัมมนาครั้งนี้ประกอบไปด้วยการบรรยายให้ความรู้ในหลากหลายหัวข้อ อาทิ “ความสำคัญและการตรวจวัดประสิทธิภาพของเครื่องทำน้ำเย็นอย่างถูกต้อง” “การพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีในการสอบเทียบเครื่องวัดในระบบทำน้ำเย็น” รวมไปถึง “การวิเคราะห์ทางการเงินของการตรวจวัดประสิทธิภาพที่มีความถูกต้อง” และการสรุปหาแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดพลังงาน ซึ่งความร่วมมือในการทำงานจากหลายภาคส่วนในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือต้องการให้ประเทศของเรามีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งต่อแนวคิด และวิธีการประหยัดพลังงานที่ดีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้อย่างไม่สิ้นสุด

8

141113

ข้อมูลข่าวโดย : สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313