เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แนะเลือกใช้ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารช่วยเก็บรักษาอาหาร สดใหม่ ช่วงวิกฤติอยู่บ้านหยุดเชื้อโควิด-19 ที่มีความจำเป็นต้องซื้ออาหารมาเก็บไว้ใช้ให้เพียงพอโดยไม่ต้องออกไปซื้อบ่อยครั้ง เมื่ออาหาร ผักผลไม้ที่ซื้อมาปริมาณมาก และต้องเก็บรักษาในภาชนะปิดสนิท เพื่อให้สดใหม่ ป้องกันฝุ่นละออง หรือ เชื้อจุลินทรีย์ นอกจากการแยกเก็บจัดใส่กล่องแล้ว การเลือกใช้ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารไว้จะช่วยลดพื้นที่การเก็บ และคงความสดใหม่ ที่สำคัญฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารมีหลายชนิดที่ควรรู้จัก เพื่อจะได้เลือกซื้อมาใช้ได้ตรงกับประเภทอาหารที่จะเก็บรักษา โดยนักวิทยาศาสตร์ จากกลุ่มงานพลาสติก กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ให้ข้อมูลชนิดของฟิล์มยืดที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้
1.) โพลีเอทิลีน (PE) มีสมบัติที่ให้ไอน้ำซึมผ่านได้น้อย แต่ก๊าซสามารถซึมผ่านได้ดี เหมาะสำหรับใช้ห่อผัก ผลไม้สด เป็นต้น
2.) โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสมบัติยอมให้ไอน้ำและอ็อกซิเจนไหลผ่านได้เหมาะสม ส่วนใหญ่นิยมใช้ห่ออาหารสด เพื่อช่วยรักษาความสดของอาหารเอาไว้ เช่น เนื้อสัตว์ และปลา เป็นต้น.
3.) โพลีไวนิลิดีนคลอไรด์ (PVDC) มีสมบัติที่เหมือนกับฟิล์มยืดที่ผลิตจาก PVC แต่จะทนความร้อนได้มากกว่า ป้องกันการซึมผ่านของก๊าซและไอน้ำ คงความสดของอาหารไว้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามการใช้ฟิล์มยืดที่ปลอดภัย ควรเลือกซื้อชนิดที่เหมาะสมกับการใช้งาน มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้า (มอก.) ดูรายละเอียดและสัญลักษณ์ข้างกล่องบรรจุ ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานพลาสติก กองวัสดุวิศวกรรม วศ. โทร. 02 201 7000 ในวันและเวลาราชการ หรือติดตามข้อมูลข่าวสาร จำเป็นต่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวันได้ทางเพจ Doctor D. ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ควบคุมดูแลข้อมูลโดยนักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.