GIISeries ทุกครั้งที่มีการพูดถึงผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรม เคยสงสัยกันไหมว่า ภายใต้คะแนนที่ออกมานั้น มีปัจจัยอะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง
หลังจากที่ NIA ได้นำเสนอผลการจัดอันดับ “ดัชนีนวัตกรรม (Global Innovation Index)” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ดัชนี GII” ที่จัดทำโดยหน่วยงานหลักอย่างองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) นั้น แนวทางต่อไปคือ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเพิ่มจุดแข็งและเสริมความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมให้กับประเทศไทย ดังนั้น สิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการเป็นลำดับแรก คือการสื่อสารให้เห็นภาพร่วมกันว่า การพัฒนาระบบนวัตกรรมแต่ละปัจจัย มีเป้าหมายในประเด็นอะไรบ้าง
สำหรับกรอบแนวคิดในการวัดความสามารถด้านนวัตกรรม จะประกอบไปด้วยดัชนีย่อย 2 ด้าน คือ ปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation Input Sub-Index) และผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation Output Sub-Index) ซึ่งใน 2 ปัจจัยย่อยนี้ ยังประกอบไปด้วยตัวชี้วัดทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการบ่งบอกความสามารถด้านนวัตกรรมอีกหลายอย่าง
เริ่มต้นทำความเข้าใจกันที่ “ปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation Input Sub-Index)” ที่สะท้อนถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมในประเทศนั้นๆ โดยจะคำนวณจากค่าเฉลี่ยของปัจจัยอีก 5 ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ปัจจัยด้านสถาบัน (Institutions) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบนวัตกรรมในมิติกฎระเบียบและประสิทธิภาพบริการภาครัฐ โดยจะวัดความเสี่ยงความมั่นคงทางการเมือง การปกครอง กฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ประสิทธิภาพของภาครัฐ คุณภาพของกฎระเบียบ และความง่ายในการทำธุรกิจ การดำเนินงาน หรือความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยกรอบการทำงานที่จะช่วยส่งเสริมตัวชี้วัดนี้ ต้องการให้เกิดการพัฒนาหรือยกเลิกข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องมีการอำนวยความสะดวกในการทำงานระหว่างผู้ประกอบการและผู้กำหนดนโยบาย เพื่อหาทางออกในการแก้ไขข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน
2. ปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย (Human Capital and Research) ภายใต้ปัจจัยนี้จะมีการวัดคุณภาพของการศึกษา การวิจัย และการพัฒนามนุษย์ ซึ่งโดยรวมจะวัดการลงทุนทางการศึกษา การศึกษาระดับพื้นฐาน การลงทะเบียนในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา ศักยภาพด้านการเรียน-การสอน จำนวนนักเรียน นักศึกษา ครู นักวิจัย การวิจัยและพัฒนา และคุณภาพมหาวิทยาลัย อันดับของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศระดับโลก ฯลฯ ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งเน้นการส่งเสริมทุนมนุษย์ ให้เข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลที่จำเป็น อย่างเช่น ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในงานวิจัยและเอกสารสิทธิบัตร ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาภาคการศึกษาให้มีศักยภาพในการบ่มเพาะและผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ
3. ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ส่วนของปัจจัยนี้ จะเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดการขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป และความยั่งยืนทางระบบนิเวศ ซึ่งจะมีในมิติของการใช้งานและการเข้าถึง ICT การจัดเตรียมโครงสร้างที่สำคัญ เช่น กำลังการผลิตไฟฟ้า ประสิทธิภาพด้านการขนส่งโลจิสติกส์ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป้าหมายของปัจจัยนี้ จะมีทั้งในพาร์ทของการลงทุน และการพัฒนาในเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการดึงดูดนักลงทุน บริษัทสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบการ หรือเครือข่ายจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. ปัจจัยด้านระบบตลาด (Market Sophistication) การวัดผลของปัจจัยนี้พิจารณาการสนับสนุนการลงทุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความเปิดกว้างของตลาด ซึ่งวัดผล 3 ด้าน ได้แก่ เครดิต การลงทุนและการค้า การแข่งขันและขนาดของตลาด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับมิติการเงินและการลงทุน อัตราภาษี และยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของอุตสาหกรรม หมุดหมายสำคัญของตัวชี้วัดนี้คือ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนการเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาตลาดให้มีศักยภาพในการแข่งขัน
5. ปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ปัจจัยนี้จะเน้นศักยภาพของประเทศในการส่งเสริมระบบธุรกิจการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรและการส่งเสริมการลงทุนในนวัตกรรมภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การดูดซับทางความรู้ การเชื่อมโยงนวัตกรรม และบุคลากรที่มีความรู้ ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนางานวิจัยและพัฒนา ที่ต้องพึ่งพาการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ที่จะส่งเสริมภาคธุรกิจให้พร้อมเสิร์ฟนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศได้
เมื่อมีปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมแล้ว ย่อมต้องมี “ผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation Output Sub-Index)” ที่เป็นการสะท้อนผลลัพธ์การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งจะวัดผลสำเร็จของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยเน้นถึงผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ โดยปัจจัยนี้จะคำนวณจากค่าเฉลี่ยของปัจจัยย่อยอีก 2 ด้าน ได้แก่
.
1. ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology Outputs) ปัจจัยนี้จะเป็นการวัดผลที่การสร้างองค์ความรู้ ผลกระทบที่เกิดจากองค์ความรู้ การจดสิทธิบัตร ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนวัตกรรม และการเผยแพร่องค์ความรู้ ดังนั้นจึงจะเกี่ยวข้องกับ กระบวนการยื่นขอและใช้ประโยชน์ทางสิทธิบัตร สิ่งพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค การพัฒนาธุรกิจทั้งด้านสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนเพื่อการส่งออก ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างผลิตผลด้านนวัตกรรมที่มีจุดเด่นเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
.
2. ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Outputs) ผลลัพธ์ของปัจจัยนี้จะมีทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ สินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ผ่านสื่อออนไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความคิดสร้างสรรค์ การสร้างแบรนด์ และสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในทุกองค์ประกอบ ทั้งในเชิงมูลค่า การประยุกต์ใช้เครื่องหมายการค้า การออกแบบ การเผยแพร่ผ่านวิธีการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของประเทศในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าง Soft Power ซึ่งเป็น Keyword สำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่พิสูจน์ความสำเร็จด้วยการสร้างอิทธิพลในการโน้มน้าวประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้ คือ กรอบแนวคิดการวัดความสามารถด้านนวัตกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ดัชนีย่อยที่มีองค์ประกอบตาม 7 ปัจจัยเสาหลักตามที่กล่าวมา สมดุลระหว่างปัจจัยนำเข้าและผลลัพธ์ ประเทศที่มีระบบสนับสนุนด้านนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง (Input) ควรแสดงผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน (Output) สะท้อนความสามารถด้านนวัตกรรมถึงความสามารถในการแปลงทรัพยากรและความพร้อมไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งจะเห็นว่าในตัวชี้วัดแต่ละด้านช่วยให้สามารถเปรียบเทียบและระบุจุดแข็ง จุดอ่อน ของประเทศได้ในมิติต่างๆ
การวัดปัจจัยเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายที่สนับสนุนนวัตกรรมในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาได้ต้องมีการอำนวยความสะดวก สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นแบบองค์รวมทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคธุรกิจ คอนเทนต์ซีรีส์ GII หลังจากนี้ NIA จะพาทุกคนเข้าไปสำรวจการส่งเสริมศักยภาพของประเทศในแต่ละตัวชี้วัดกันว่ามีการดำเนินการอย่างไรเพื่อสอดรับกับตัวชี้วัดนั้นๆ บ้าง!
อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้ที่ https://bit.ly/3DixwOv
ติดตามคอนเทนต์ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่
https://www.nia.or.th/article/blog.html
ที่มา : สำนักงานนวัตกรรมเเห่งชาติ (สนช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.