Seabin นักดูดขยะแห่งท้องทะเล
ใครรู้จักเจ้า Seabin บ้างเอ่ย? บอกเลยว่ามันคือสิ่งประดิษฐ์ที่เหมาะจะมาช่วยแก้ปัญหาขยะในทะเลที่ไทยกำลังเผชิญอยู่มากๆ ซึ่ง ขยะส่วนใหญ่ที่พบเป็นของใช้ของมนุษย์ทั้งนั้น เช่น ขวด หลอด และถุงพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้ว กล่องโฟม เศษอวน และก้นบุหรี่ มักพบได้ที่ชายฝั่ง ซึ่งขยะแต่ละชิ้นก็ใช้เวลาย่อยสลายนาน ส่งผลต่อระบบนิเวศในน้ำ ทั้งทำให้สัตว์น้ำตาย แนวปะการังเสียหาย
แล้ว Seabin คืออะไร? จะมาช่วยแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือ?
Seabin ก็คือสิ่งประดิษฐ์ของชายชาวออสเตรเลีย Andrew Turton และ Pete Ceglinski พวกเขาคิดค้นถังขยะที่สามารถลอยอยู่ในน้ำและดูดขยะลงไปในถุงดักขยะภายในได้ เช่น ขวดพลาสติก เศษกระดาษ รวมไปถึงคราบน้ำมัน
Seabin ทำงานอย่างไร?
Seabin จะถูกติดตั้งบริเวณท่าเรือซึ่งเป็นจุดที่พบขยะมากที่สุด และจะคอยดูดขยะที่อยู่บนผิวน้ำเข้าไปภายในผ่านถุงดักขยะ โดยแรงดูดมาจากเครื่องปั๊มน้ำที่คอยปั๊มน้ำให้ไหลวนภายในถังอย่างต่อเนื่องจึงสามารถดูดขยะลงไปในถังได้ ส่วนน้ำทะเลที่ถูกดูดขึ้นมาจะได้รับการกรองสิ่งปฏิกูลก่อนปล่อยกลับสู่ทะเลอีกครั้ง จึงต้องคอยเปลี่ยนถุงดักอยู่เสมอ
แต่ความหวังที่นักประดิษฐ์ชาวออสเตรเลียทั้งสองอยากให้เกิดขึ้นก็คือ ทะเลไม่มีขยะและโลกนี้ไม่ต้องการ Seabin อีกต่อไป แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ? โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีปัญหาขยะทางทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แถมไม่มีเจ้า Seabin มาช่วยดูดขยะด้วย
การแก้ปัญหานี้ไม่ยากเกินกว่ากำลังจะทำได้ เพียงแค่ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) รวมถึงส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย (Linear Economy) หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำได้ เจ้า Seabin อาจจะไม่จำเป็นต่อท้องทะเลไทยอีกต่อไป
ติดตามข้อมูลความรู้อื่นๆ ของ สอวช. ได้ที่