แอลกอฮอล์กับการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
แอลกอฮอล์ที่ใช้ทางการแพทย์สามารถใช้ได้ทั้งเป็นสารฆ่าเชื้อ (disinfectant) และสารระงับเชื้อ (antiseptic) ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน แต่สามารถติดไฟได้ดี ระเหยได้ง่าย ทำให้ติดบนพื้นผิวและออกฤทธิ์เป็นระยะเวลานานไม่ได้ เมื่อละลายกับน้ำจะสามารถแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ดีขึ้น จึงทำให้โปรตีนเสียสภาพและยังทำให้เยื่อหุ้มเซลล์แตกและเข้าไปรบกวนระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) ด้วย แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จะทำให้โปรตีนด้านนอกของเยื่อหุ้มเซลล์เสียสภาพได้อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น้อยลงการออกฤทธิ์ก็จะลดลง โดยความเข้มข้นปกติที่นิยมใช้จะอยู่ในช่วง 60-90% (ถ้าความเข้มข้นมากกว่านี้จะไม่สามารถเข้าเซลล์ได้) เช่น แอลกอฮอล์ผสมความเข้มข้นสูงของ 80% ethanol ร่วมกับ 5% isopropanol จะสามารถยับยั้งไวรัสที่มีเยื่อหุ้มเป็นไขมันได้ด้วย (เช่น HIV ไวรัสตับอักเสบ B และ C)ส่วนการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวเปียกจะต้องใช้ความเข้มข้นมากขึ้น
นอกจากนั้นประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อผสมสารลดแรงตึงผิว (wetting agent) เช่น ของผสม 29.4% เอทานอล กับกรดลอริก หรือกรดโดเดคาโนอิก (dodecanoate acid)จะออกฤทธิ์ได้ดี กับทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส
แอลกอฮอล์ขนาดเล็กอย่างเอทานอลและไอโซโพรพานอลนำมาใช้เป็นสารฆ่าเชื้ออย่างแพร่หลาย แต่เมทานอลไม่ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อเพราะมีพิษอย่างยิ่งต่อคน ถ้าได้รับเกิน 10 มิลลิลิตร เมื่อย่อยเป็นกรดฟอร์มิก (formic acid) แล้วจะมีผลทำลายประสาทตาจนตาบอดถาวรได้และถ้าได้รับเกิน 30 มิลลลิตร อาจถึงตายได้
โดยทั่วไปเอทานอลจะออกฤทธิ์ต่อไวรัสได้ดีกว่าไอโซโพรพานอลและนิยมใช้กันอย่าง กว้างขวางมากกว่า สามารถฆ่าเชื้อวัณโรคและไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคเริม ไข้หวัดใหญ่ โรคพิษสุนัขบ้า ได้ แต่ไวรัสตับอักเสบและเอดส์ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด นอกจากนั้นโดยปกติจะไม่ใชแช่เครื่องมือ เพราะจะทำให้เป็นสนิม แต่หากเติมโซเดียมไนไตรท์ 0.2% จะช่วยป้องกันการเกิดสนิมได้
วิธีจำแนกแอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิด
สำหรับวิธีที่สามารถจำแนกแอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิดออกจากกันได้แม่นยำคือ การพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยเทคนิคทางสเปกโทรสโกปี (Spectroscopy) เช่น Nuclear Magnetic Resonance (NMR) Spectroscopy วิธีการนี้สามารถบอกประเภทของแอลกอฮอล์ไปจนถึงปริมาณการปนเปื้อนของแอลกอฮอล์หรือสารประเภทอื่นๆ ได้ด้วย แต่วีธีการนี้ต้องอาศัยเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีราคาแพง และผู้เชี่ยวชาญในการใช้งาน
นอกจากนั้น ยังมีการทดสอบด้วยเทคนิค Gas Chromatography โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสภณัฐ คงศรีประพันธุ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ศิษย์เก่าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการตรวจสอบการปนเปื้อนของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์เจลล้างมือด้วยเทคนิคดังกล่าวโดยเทคนิคนี้จำแนกแอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิดได้แม่นยำเช่นกัน แต่ยังคงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวิเคราะห์
วิธีการจำแนกแอลกอฮอล์อย่างง่าย มี 4 วิธี ดังนี้
1.การวัดจุดเดือด โดยนำแอลกอฮอล์ใส่หลอดแก้วและนำไปต้มในอ่างน้ำร้อน แล้วจึงวัดอุณภูมิขณะที่แอลกอฮอล์เดือด เพื่อป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ติดไฟ หากเป็นเมทิลแอลกอฮอล์จะมีจุดเดือดที่อุณหภูมิประมาณ 65 องศาเซลเซียส ขณะที่เอทิลแอลกอฮอล์ จะมีจุดเดือดอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 78 องศาเซลเซียส และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์จะมีจุดเดือดที่อุณหภูมิประมาณ 83 องศาเซลเซียส
2.การจุดเปลวไฟ นำแอลกอฮอล์มาจุดไฟ แล้วสังเกตดูสีของเปลวไฟ เมทิลแอลกอฮอล์จะมีเปลวไฟสีฟ้าและสังเกตเปลวไฟยาก ส่วนเอทิลแอลกอฮอล์ และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์จะมีเปลวไฟเหลืองส้มและติดไฟนาน
3.ดูการเปลี่ยนแปลงสีเมื่อผสมกับสารละลายไอโอดีนและโซดาไฟ โดยเตรียมแอลกอฮอล์ที่ต้องการทดสอบใส่หลอดแก้ว 10 หยด แล้วหยดสารละลายไอโอดีนหรือทิงเจอร์ไอโอดีนลงไป 25 หยด จากนั้นหยดสารละลายโซดาไฟลงไป 10 หยด หากเป็นเมทิลแอลกอฮอล์จะเปลี่ยนสีจากสีเหลืองน้ำตาลของไอโอดีนเป็นสีใส ขณะที่เอทิลแอลกอฮอล์และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์จะเปลี่ยนเป็นสีขุ่นขาว
4.ดูความเร็วในการเปลี่ยนสีเมื่อผสมกับน้ำส้มสายชูและด่างทับทิมเกล็ด โดยหากเทน้ำส้มสายชูและด่างทับทิมสีม่วงแดงผสมกันเรียบร้อย 1/3 ช้อนกาแฟ ลงในแอลกอฮอล์ที่เตรียมไว้ 1/2 ช้อนกินข้าวแล้ว หากสีม่วงแดงหายไปภายใน 3 นาที แสดงว่าแอลกอฮอล์นั้นเป็นไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หากสีม่วงแดงหายไปภายใน 5 นาที เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ แต่หากไม่เปลี่ยนสีแม้ผ่านไปนานกว่า 15 นาทีแล้ว แสดงว่าเป็นเมทิลแอลกอฮอล์
แหล่งที่มาข้อมูล : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล https://science.mahidol.ac.th/
องค์การสุรา กรมสรรพสามิต https://www.liquor.or.th/
กองประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
https://www.naewna.com/sport/612470
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.