ข้อมูลทางนิเวศวิทยา :
– สารนี้เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต เป็นพิษต่อปลา และแพลงค์ตอน
– การเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะกลิ่นโปรตีนจากปลา ทำให้แหล่งน้ำดื่มเป็นพิษ
– สารนี้อาจเกิดการผสมกับอากาศเหนือผิวน้ำ ให้ของผสมที่เป็นพิษ และสามารถระเบิดได้
– สารนี้อาจเกิดผลเสียระยะยาวต่อระบบนิเวศน์ในน้ำ
– ห้ามทิ้งลงสู่ระบบน้ำ น้ำเสีย หรือดิน
สารประกอบอะโรมาติก คือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัวที่มีคาร์บอนต่อกันเป็นวง มีจำนวน อิเล็กตรอนเป็น 4n+2 เมื่อ n = 1, 2,3 และอิเล็กตรอนเหล่านี้ไม่อยู่ประจำที่ สารที่เราคุ้นเคยได้แก่ เบนซีน (benzene) มีสูตรเคมี คือ C₆H₆ ซึ่งคาร์บอนทั้งหกอะตอมต่อกันเป็นหกเหลี่ยมและคาร์บอนทุก ๆ อะตอมอยู่ในระนาบเดียวกันและมีจำนวน 6 อิเล็กตรอน
เบนซีนและอนุพันธ์ของเบนซีน (ไดฟีนิล ออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และ ไบฟีนิล (Biphenyl)) จัดเป็นสารประกอบอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนชนิดหนึ่งที่พบเห็นและใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นโมเลกุลที่เล็กที่สุดของสารประกอบอะโรมาติก มีน้ำหนักเบา ลอยไปในอากาศระยะไกลได้ นิยมใช้เป็นตัวทำละลายและเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารประกอบต่างๆ เช่น เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สารตั้งต้นในการผลิตในการผลิตสีย้อม เป็นต้น
ทางเข้าสู่ร่างกาย
1. ทางเดินหายใจ โดยการสูดดมไอระเหย (Vapour)
2. การดูดซึมผ่านทางผิวหนัง พบว่าสารนี้สามารถดูดซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายได้
3. การดูดซึมผ่านทางเดินอาหาร ด้วยการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีสารปนเปื้อน
4. สัมผัสถูกตา การสัมผัสถูกตา ไอระเหยของสารก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา
ความเป็นพิษ
1. ระคายเคืองผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ ทำให้ผิวหนังแห้งและอักเสบ
2. กดระบบประสาทส่วนกลางก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ง่วงซึม ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เกิดภาวะการทำงานไม่ประสานกัน มึนงง และทำให้หมดสติได้
การสัมผัสสารเบนซีนที่ความเข้มข้น 25 ppm คาดว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย การสัมผัสสารนี้ที่ความเข้มข้น 50-150 ppm จะก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูก และลำคอ อาจจะมีอาการเวียนศีรษะ เป็นอาการนำก่อนจะเกิดอาการอื่น ๆ ตามมา การสัมผัสสารนี้ที่ความเข้มข้นประมาณ 20,000 ppm จะทำให้เสียชีวิตได้ สารนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน
3. การสัมผัสกับเบนซีนที่ความเข้มข้นสูง อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และมีผลกระทบต่อประจำเดือนในเพศหญิงได้
4. ผลกระทบต่อการสัมผัสในระยะยาว หรือการสัมผัสถูกผิวหนังเป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดผื่นแดง ผิวหนังแห้ง อักเสบ และทำให้เกิดการสูญเสีย/ทำลายชั้นไขมันของผิวหนัง สารนี้จะก่อให้เกิดการลดลงของจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด แต่ในระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางและเกิดความผิดปกติต่อเม็ดเลือดขาว (leukemia)
5. เบนซีนจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามบัญชีรายชื่อ IARC NTP ACGIH
การปฐมพยาบาล
หายใจเข้าไป : ถ้าหายใจเข้าไปให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ช่วยผายปอด ถ้าหายใจติดขัดให้ออกซิเจนช่วย หากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นให้ทำการกระตุ้นหัวใจทันที (CPR) นำส่งไปพบแพทย์ทันที
กินหรือกลืนเข้าไป : ถ้ากลืนหรือกินเข้าไปห้ามไม่ให้สิ่งใดเข้าปากผู้ป่วยที่หมดสติ หากผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้ผู้ป่วยบ้วนล้างปากด้วยน้ำอย่ากระตุ้นให้เกิดการอาเจียน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 240-300 มิลลิลิตร (8-10 ออนซ์) เพื่อเจือจางสารในกระเพาะอาหาร หากผู้ป่วยเกิดการเอาเจียนขึ้นเองให้เอียงศีรษะต่ำ และอย่าหายใจเอาไอของสารที่เกิดจากการอาเจียนเข้าไป และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตามมาก ๆ นำส่งไปพบแพทย์ทันที
สัมผัสถูกผิวหนัง : ถ้าสัมผัสถูกผิวหนังให้ฉีดล้างผิวหนังทันทีด้วยน้ำอุ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที หรือจนกว่าสารจะหลุดออกหมด พร้อมถอดเสื้อผ้าและรองเท้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออกนำส่งไปพบแพทย์ทันที และให้ทิ้งเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนังที่เปรอะเปื้อน
สัมผัสถูกตา : ถ้าสัมผัสถูกตา ให้ฉีดล้างผิวหนังทันทีด้วยน้ำอุ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที หรือจนกว่าสารจะหลุดออกหมด ใช้นิ้วถ่างแยกเปลือกตาออก ขณะทำการล้าง และให้ระวังอย่าให้น้ำจากการล้างตาไหลเข้าสู่ตาอีกข้าง นำส่งไปพบแพทย์ทันที
อื่นๆ : ผู้ทำการปฐมพยาบาลจะต้องได้รับการฝึกอบรมและมีความเชี่ยวชาญ
การกำจัดกรณีรั่วไหล
– วิธีการปฏิบัติในกรณีเกิดการหกรั่วไหล ให้กั้นแยกพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุหกรั่วไหล
– ให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสม
– จัดให้มีการระบายอากาศในบริเวณที่เกิดการหกรั่วไหล และให้เคลื่อนย้ายแหล่งจุดติดไฟทั้งหมดออกไป
– ให้หยุดการรั่วไหลหากสามารถทำได้อย่างปลอดภัย
– ให้ดูดซับส่วนที่หกรั่วไหลด้วยทราย ดิน และวัสดุดูดซับที่ไม่เกิดปฏิกิริยากับสารนี้
– กรณีการหกรั่วไหลเล็กน้อย ให้ดูดซับส่วนที่หกรั่วไหลด้วยวัสดุดูดซับที่ไม่เกิดปฏิกิริยากับสาร และเก็บใส่ในภาชนะบรรจุที่เหมาะสม ทำการติดฉลากภาชนะบรรจุแล้วล้างบริเวณสารหกรั่วไหล หลังจากสารเคมีถูกเก็บกวาดเรียบร้อยแล้ว
– วัสดุดูดซับสารที่เปรอะเปื้อนจะต้องได้รับการกำจัดเช่นเดียวกับของเสีย
– กรณีหกรั่วไหลรุนแรง ให้ทำการติดต่อหน่วยฉุกเฉิน และหน่วยบริการดับเพลิง
– การทำความสะอาดอย่าสัมผัสกับสารที่หกรั่วไหล
– ป้องกันไม่ให้สารเคมีที่หกรั่วไหล ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ แม่น้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ และบริเวณที่อับอากาศ
เพื่อนๆ ครับ จากข่าวสารเคมีรั่วไหล เมื่อเช้าวันนี้ ในพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับกลิ่นเหม็นคล้ายสารเคมีแพร่กระจายเป็นวงกว้าง เบื้องต้นทราบว่า สารเคมีรั่วไหลออกมาจากโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์ โดยเป็นสารกลุ่มอะโรมาติกเบนซิน วันนี้ Dr.D จะพาไปรู้จักกับสารตัวนี้กันครับ
เพื่อนๆ ที่อยู่ในบริเวณเกิดเหตุดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร และไม่ควรอยู่ในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้งสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันระบบทางเดินหายใจ หากมีอาการผิดปกติทางร่างกาย ควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการโดยเร็วที่สุดนะครับ
ที่มา: เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) สาร Benzene และ พิษของสารละลายอินทรีย์ในโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มความปลอดภัยสารเคมี กรมโรงงานอุตสาหกรรม
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.