หอยแมลงภู่...สร้างแรงบันดาลใจผลิตกาวกันน้ำที่มีประสิทธิภาพ
เรามักจะเห็นหอยแมลงภู่เกาะยึดแน่นบนชายหาดที่มี โขดหินริมทะเลหรือเสาสะพานท่าเทียบเรือ เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมหอยแมลงภู่เหล่านั้นจึงยึดติดได้แน่นราวกับมีกาวยึดไว้ แม้อยู่ในน้ำทะเล ซึ่งมีคลื่นซัดอย่างต่อเนื่อง
จากความสามารถในการยึดเกาะดังกล่าวของหอยแมลงภู่ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ทำการค้นคว้าวิจัยความสามารถพิเศษนี้ และนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์กาวกันน้ำที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค มีประสิทธิภาพ การยึดติดแน่น มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังประสบผลสำเร็จในการวิจัยพบว่าเมือกของหอยแมลงภู่ช่วยในการสมานบาดแผลได้ โดยกาว ธรรมชาติของหอยแมลงภู่นั้นสามารถใช้เชื่อมปิดแผลผ่าตัดได้ อีกทั้งยังช่วยให้เนื้อเยื่อฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและลดรอยแผลเป็น ได้ดีกว่าการปิดแผลแบบเดิม ซึ่งกาวจากธรรมชาตินี้ ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังและสามารถย่อยสลายได้ในร่างกายของ มนุษย์
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Purdue ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนากาวที่ใช้ในการติดแผลผ่าตัดชนิดใหม่ ซึ่งผลิตขึ้นจากโปรตีนของหอยแมลงภู่และสัตว์ชนิดอื่นๆ สามารถใช้ติดกับวัตถุทั้งที่ยังเปียก จากการทดสอบพบว่า สามารถติดแผลผ่าตัดได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์เย็บแผลทั่วไป
ทีมนักวิจัยเล็งเห็นถึงคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตที่สามารถผลิตโปรตีนที่มีคุณสมบัติในการติดแผลดังกล่าว และได้ทำการค้นหากรดอะมิโนที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีนที่ได้จากหอยแมลงภู่และสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ใช้คุณสมบัติของโปรตีนชนิดนี้ติดตัวเองกับหินที่เปียก และประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเป็นวัสดุกาวใหม่ที่มีชื่อว่า ELY16 โดยมีที่มาของชื่อจากโปรตีนซึ่งพบในหอยแมลงภู่ที่มีชื่อว่า อีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็น ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นบวกกับมีกรดอะมิโนไทโรซีน ด้วย เมื่อเอนไซม์ไทโรซิเนสถูกเพิ่มเข้าสู่อีลาสติน ทำให้เอนไซม์ไทโรซิเนสเปลี่ยนไทโรซีนให้กลายเป็นไดไฮโดฟีนิลอะลานีน (DOPA) ที่มีคุณสมบัติทำให้วัสดุสองชิ้นยึดติดกันได้ทั้งในกรณีที่เปียกหรืออยู่ใต้น้ำ
"ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่า การเย็บแผลโดยใช้เข็มเย็บและการใช้ลวดเย็บแผลที่ใช้ ในการผ่าตัดส่วนใหญ่นั้น เป็นวิธีการที่สร้างความเจ็บปวดมาก และดูเหมือนจะไม่เหมาะกับกรณีแผลผ่าตัดทั้งหมด" หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว
ดังนั้นการพัฒนากาวผ่าตัดชนิดนี้ให้สามารถทำงานได้ดีในกรณีที่แผลเปียกและไม่มีพิษต่อร่างกาย รวมถึงการเข้ากันทางชีวภาพกับร่างกายมนุษย์จึงเป็นแนวโน้มการรักษาที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้ป่วยในด้านการลดความเจ็บปวดและมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ใกล้เคียงกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://th.omatomeloanhikaku. com/, http://medicaldevices.oie.go.th/,
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.