ใครที่เคยมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรืองานมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่จัดโดย NSM นั้น น่าจะเคยสัมผัสถึงความว้าว! และความตื่นตาตื่นใจของนิทรรศการที่ถ่ายทอดความรู้แบบวิทย์ ๆ ออกมาได้สนุกและน่าสนใจ ถูกใจเด็ก ๆ ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังงานสร้างนั้นก็คือ คุณนิติ บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมและการผลิตสื่อ คนนี้นี่เอง
ประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปีบนเส้นทางการสรรค์สร้าง กลั่นกรองเป็นหลักคิดในการออกแบบนิทรรศการวิทยาศาสตร์อะไรบ้างนั้น เราลองมาดูคำตอบกันต่อเลยดีกว่า...
“การแปลงเรื่องที่เข้าใจยาก ๆ ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ” คือสิ่งที่คุณนิติเรียกว่าเป็นแนวคิดหลักในการผลิตชิ้นงานของ NSM แล้วสิ่งนี้ทำยังไงล่ะ? กว่าจะเป็นหนึ่งนิทรรศการ (หรือ 1 Cluster) ผู้เชี่ยวชาญในแขนงความรู้และผู้ออกแบบนิทรรศการจะต้องมาพูดคุยและตีความเนื้อหาเพื่อแปลงให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของนิทรรศการ ก่อนจะแบ่งออกเป็นโซน แล้วก็ต้องมาคิดอีกว่าแต่ละโซนจะเล่าเนื้อหาออกมาอย่างไร และจะใช้สื่ออะไรเป็นองค์ประกอบ ในระหว่างกระบวนการเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายคำนึงถึงคือ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่จะเป็นตัวกำหนดความยากง่ายของเนื้อหา และสื่อที่ใช้ในนิทรรศการ
เด็กแต่ละคนก็มีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ยิ่งเป็นเรื่องวิทย์ ๆ ที่ดูเข้าใจยาก ทีมนิทรรศการ NSM จะสื่อสารอย่างไรให้เด็กอยากรู้
“ความสนุก 60% วิชาการ 40%” เป็นสัดส่วนการออกแบบนิทรรศการที่คุณนิติได้จากประสบการณ์การทำงานตลอดระยะเวลาหลายปี
สัดส่วนระหว่างความสนุกและความรู้ ในงานออกแบบและจัดทำนิทรรศการ คือส่วนผสมที่ทำให้ผู้เข้าชมมีความสุขในการรับชม และขึ้นอยู่กับบริบทของนิทรรศการนั้น ๆ
“อพวช. ทำงานในส่วนของการสร้างสรรค์นิทรรศการมากว่า 20 ปี เรารู้ว่าเราสามารถบอกเหล่าหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ได้แน่น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เด็กไม่อยากฟัง ฉะนั้นเราจึงต้องพยายามออกแบบเนื้อหาและประสบการณ์ให้อยู่ในจุดที่เด็กอยากอ่านและศึกษาต่อ เหมือนกับการดูหนัง ดูการ์ตูน ที่เราดูแล้วไม่รู้สึกว่าความรู้ทางวิชาการซ่อนอยู่ เด็กก็จะซึมซับวิชาการจากตรงนั้น เราซ่อนวิชาการไว้ในความสนุกโดยเด็กไม่รู้ว่านั่นคือวิชาการ”
ตรงนี้เองที่การใช้สื่อในรูปแบบที่หลากหลายได้เข้ามาช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน รวมไปถึงการทำให้เด็ก ๆ ได้พัฒนา Soft Skill ของตนเองร่วมกับเพื่อน ๆ ผ่านการใช้สื่อร่วมกัน ดังนั้น ไม่ว่าเด็กที่มาจะไม่ชอบอ่าน แต่ชอบเล่น ชอบดูสื่อ ก็จะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ นำไปต่อยอดได้จากนิทรรศการของ NSM
“คุณเดินเข้ามาแล้วเห็นแววตาเด็กที่มาเล่น แววตาเขาสนุกมาก ตื่นเต้นมาก สิ่งนี้ผมว่ามันคือพลังในการทำงานของเราต่อไป”
คุณนิติเล่าว่า สำนักวิศวกรรมและการผลิตสื่อนั้นประกอบด้วยทีมที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายแขนงทั้ง Graphic, Engineer, Electronics, Mechanic, Mechatronics ฯลฯ เรียกได้ว่าทุกกระบวนการสามารถเริ่มต้นและสิ้นสุดได้ด้วยตัวเอง
ในบางครั้ง มีงานบางอย่างที่สำนักวิศวกรรมและการผลิตสื่อนั้นก็เลือกที่จะส่งไปให้ผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ในท้ายที่สุด ทีมของ NSM ที่มีประสบการณ์และรู้จักกลุ่มเป้าหมายดีที่สุดจะเป็นผู้จัดการควบคุมงานตัวงานนั้นออกมาตรงตามโจทย์และนำมาประกอบร่างเข้าด้วยกัน
ทีมงานของ NSM มีตั้งแต่รุ่นใหญ่จนถึงรุ่นใหม่ ซึ่งทุกคนล้วนสนุกกับความท้ายทาย ในการได้คิดค้นและทำงานบนความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมมีความตั้งใจเต็มเปี่ยมในการทำให้ผลงานออกมาดีที่สุด
“ผมเชื่อว่าเราเป็นทีมทำนิทรรศการได้ดีอันดับต้น ๆ ของประเทศ”
ผลงานจากประสบการณ์ทำงานกว่า 20 ปี ของสำนักวิศวกรรมและการผลิตสื่อนั้น ล้วนเป็นที่ประจักษ์สู่สายตาทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งในรั้วของ NSM เอง หรืองานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่มีผู้กล่าวว่าเป็นมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก
.
หลักคิดและกระบวนการทำงานในการสร้างสรรค์นิทรรศการวิทยาศาสตร์ของทีมสำนักวิศวกรรมและการผลิตสื่อที่ทำให้ได้รับการยอมรับ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้จนมีหน่วยงานประเทศเพื่อนบ้านมาขอคำแนะนำในการสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์นั้น ก็สามารถสรุปออกมาเป็น 4 หลักคิด ดังนี้
1. ความสนุกต้องมาก่อน แล้วความรู้จะได้มาแบบไม่รู้ตัว
2. สร้างความตระหนักให้ไปเรียนรู้ต่อ
3. มีองค์ประกอบที่ตอบโจทย์วัยและช่วงการเรียนรู้ที่หลากหลาย
4. พัฒนา Soft Skill ด้วย ไม่ใช่แค่ต้องมีความรู้
สุดท้ายนี้ คุณนิติได้เผยถึงเป้าหมายที่ตั้งใจในอนาคตไว้ว่า
“มันเป็นเป้าของ อพวช. ที่จะเป็นเบอร์หนึ่งของเอเชียอาคเนย์ เป้านี้ผมว่าเราเดินไปถึงแต่เราต้องพัฒนาตัวเองเพิ่มมากขึ้น สร้างคุณค่าให้กับต่างชาติมากขึ้น เราพยายามสร้างรากฐานของเราให้แข็งแรงและเป็นที่รู้จักในชาติเราก่อน เพื่อนรอบ ๆ เขาก็มาดูงานที่เราและขอให้เราส่งชิ้นงานไปจัดแสดง รวมไปถึงให้เราช่วยดีไซน์เซ็นเตอร์ของเขา ก็ถือว่าค่อย ๆ ก้าวเข้าไป”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์นิทรรศการที่ได้รับการยอมรับ จากทั้งในและนอกประเทศ ใครที่ยังไม่เคยได้ลองมาสัมผัสนิทรรศการของ NSM ขอบอกเลยว่าต้องได้ลองมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง แล้วรับประกันเลยว่าจะต้องอยากมาซ้ำอย่างแน่นอน
ที่มา : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
https://www.facebook.com/NSMThailand
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.