นอนหลับสมดุล เป็นต้นทุนสุขภาพสากล (Sleep Equity for Global Health)
การนอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนเราใช้เวลา 1 ใน 3 ไปกับการนอน การนอนหลับอย่างเพียงพอและ มีคุณภาพนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะระหว่างที่เรานอนหลับนอกจากจะเป็นการพักการทำงานของร่างกายและจิตใจ โดยรวมแล้วยังเป็นเวลาที่ทุกระบบร่างกายใช้ในการตรวจสอบและฟื้นฟู ตัวเอง ได้พักตามไปด้วย การเต้นของหัวใจช้าลง การหายใจช้าลงและสม่ำเสมอ มีการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดลดลง แต่มีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับช่วยการซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอ ตลอดทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน การนอนหลับมีบทบาทสำคัญกับการเจริญเติบโตพัฒนาการของร่างกายและสมอง ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันสุขภาพและโรคประจำตัว ซึ่งการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มความโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
หากนอนไม่พอหรือการนอนมีปัญหาจะมีผล กระทบต่อร่างกายและจิตใจ เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ การตัดสินใจช้าลง ไม่มีสมาธิ อารมณ์หงุดหงิดง่าย มีอาการง่วงระหว่างวันสูง นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคอ้วน ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การดื้ออินซูลิน โรคเบาหวาน การนอนเหมือนร่างกายได้ชาร์จแบตเตอรี่ดังนั้น ถ้าเรานอนหลับไม่ดีในช่วงกลางคืน จะมีผลในช่วงเวลากลางวันตามมา จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถหรือระหว่างทำงาน ส่วนในวัยเด็ก เด็กจะไม่มีสมาธิ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ง่วงนอน รู้สึกนิ่งเฉย ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ในวัยสูงอายุ จะมีอาการภาวะสับสน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เรา จะเห็นว่าการนอนไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพการนอนหลับ และสุขภาพชีวิตเป็นอย่างมาก การนอนที่ดีต้องมีจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอต่อความต้องการ ตามอายุ เด็กแรกเกิดต้องการนอนมากกว่า 10-16 ชั่วโมง เด็กวัยเรียน 8-10 ชั่วโมง วัยทำงาน 7-8 ชั่วโมง และวัยสูงอายุควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง
การนอนหลับยังมีประโยชน์อื่นอีกมากมาย เพราะการนอนหลับเป็นสิ่งพิเศษที่ธรรมชาติสร้างมาให้กับ สิ่งมีชีวิตทุกชนิด การทำงานของร่างกายหลายระบบจะเป็นไปได้ด้วยดีหรือเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงการนอนหลับ เช่น ขบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆ ของร่างกายจากการปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆ หัวใจและหลอดเลือดได้พักผ่อน และเป็นช่วงเวลาที่สมองทำการเรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ที่สมองได้รับทราบในวันนั้นๆ เข้าสู่การเรียบเรียงและจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถดึงมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเป็นขบวนการเรียบเรียงและจัดเก็บในสมอง พร้อมดึงกลับมาใช้และเรียนรู้สิ่งใหม่ ระบบบันทึกความทรงจำระยะยาวของมนุษย์ที่เกิดที่สมองส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมพัส (Hippocampus) โดยจะเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นให้เป็นความทรงจำระยะยาว ซึ่งระบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงของการนอนหลับเป็นสำคัญ นอกจากนี้พบว่าระบบฮอร์โมนของร่างกายหลายชนิดมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาปริมาณมากเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน เช่น ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth Hormone) และฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งช่วยควบคุมวงจรการหลับตื่นและฮอร์โมนชนิดนี้จะหลั่งออกมาเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น ซึ่งตรงกับสิ่งที่ผู้ใหญ่คอยสอนลูกหลานว่า ต้องกินเยอะๆ เข้านอนเร็วๆ จะได้โตไวๆ และเรียนหนังสือเก่งๆ แท้จริงแล้วก็เป็นความจริงจากกลไกธรรมชาติของระบบประสาทที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานอนหลับ นั่นเอง
ที่มา : https://www.facebook.com/MHESIThailand
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.