(photo: CGTN)
1. เมืองกุ้ยหยางในฐานะ Big Data Valley ของจีน
เมืองกุ้ยหยาง เมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน กำลังกลายเป็นจุดหมายการลงทุนด้านเทคโนโลยี Big Data แห่งใหม่ของจีน เมืองกุ้ยหยางได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ตั้งแต่ปี 2557 และมีความคืบหน้าอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลจีนจึงกำหนดให้เมืองกุ้ยหยางเป็นเขตสาธิตอุตสาหกรรม Big Data แห่งแรกของประเทศในปี 2558 และเริ่มจัดงาน The China International Big Data Industry Expo ทุกปีจวบจนปัจจุบัน
ในปี 2561 GDP ของเมืองกุ้ยหยางมีมูลค่า 3.79 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากปีก่อนหน้า เป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มเมืองหลวงระดับมณฑลของจีน โดยที่ค่าดัชนีการผนวกรวมกับเศรษฐกิจของ Big Data ของเมืองกุ้ยหยางเท่ากับร้อยละ 45.3 สูงที่สุดในมณฑลกุ้ยโจว นอกจากนี้ เมืองกุ้ยหยางยังมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่มีความมั่นคงและปลอดภัยต่อการจัดเก็บข้อมูล สภาพภูมิอากาศที่เย็นสบาย ป้องกันปัญหาความร้อนของระบบประมวลผลและช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงพลังงานไฟฟ้าและพลังงานน้ำที่สะอาดและราคาถูก รวมถึงต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากทั่วโลกเข้ามาลงทุน ช่วงปลายปี 2556 ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมใหญ่ China Telecom China Mobile China Unicom เข้าลงทุนสร้างศูนย์จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในเขตอุตสาหกรรมใหม่กุ้ยอัน เมืองกุ้ยหยาง และในปี 2560 Huawei Apple Tencent ได้เริ่มโครงการก่อสร้างศูนย์กลางข้อมูลของบริษัทในเมืองกุ้ยหยาง โดยปัจจุบันเมืองกุ้ยหยางมีบริษัทด้าน Big Data รวม 1,632 บริษัทดำเนินธุรกิจในสวนอุตสาหกรรม Big Data 10 แห่ง ซึ่งทำรายได้เข้าสู่เมืองกุ้ยหยางกว่า 1 แสนล้านหยวนในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
2. ความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ของเมืองกุ้ยหยาง
ในการประชุมสองสภา (Two Sessions) ปี 2562 ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของหน่วยงานบริหารราชการและที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงสุดของจีน นาย Chen Yan ผู้ว่าการเมืองกุ้ยหยาง กล่าวว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Big Data ในหลากหลายอุตสาหกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่สำหรับการปฏิรูปอุตสาหกรรม และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนสู่เมืองยุคใหม่
ในงาน The China International Big Data Industry Expo ปี 2561 เอกสารเรื่อง “ดัชนีความเปิดกว้างของแหล่งข้อมูลจีน” โดยการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย Fudan ห้องทดลองการประยุกต์ใช้ Big Data เพื่อพัฒนาการบริหารของรัฐบาล และสถาบันวิจัยข้อมูลสารสนเทศและดิจิทัลแห่งชาติ ระบุว่า เมืองกุ้ยหยางเป็นเมืองที่เปิดกว้างการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลสูงที่สุดในประเทศ โดยการใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลของรัฐบาลเมืองกุ้ยหยางซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับระบบ Cloud Guizhou ในการแก้ไขปัญหาการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลของรัฐบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมดกว่า 6.18 ล้านกลุ่ม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นพื้นฐานของการสร้างระบบ Big Data+ การบริหารงานของภาครัฐ Big Data+ การให้บริการประชาชน และ Big Data+ คะแนนความน่าเชื่อถือ และสนับสนุนการร่วมใช้ทรัพยากรข้อมูลภาครัฐของบุคลากรและวิสาหกิจเพื่อพัฒนาสังคม
นอกจากนี้ จากรายงานยุทธศาสตร์การพัฒนา Big Data ของมณฑลกุ้ยโจว ฉบับปี 2562 ระบุว่า มณฑลกุ้ยโจวและเมืองกุ้ยหยางมีความได้เปรียบด้านการจัดทำข้อกฎหมายระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับ Big Data โดยในปี 2560 รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวได้ประกาศ “กฎระเบียบผลักดันการประยุกต์ใช้และพัฒนา Big Data ของมณฑลกุ้ยโจว” ส่วนรัฐบาลเมืองกุ้ยหยาง ได้ประกาศ “กฎระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งปันและเปิดกว้างข้อมูลภาครัฐของเมืองกุ้ยหยาง” และตามด้วยมาตรการต่างๆ ในปี 2561 เช่น “มาตรการควบคุมทรัพยากรข้อมูลภาครัฐ” “มาตรการบังคับใช้การแบ่งปันและเปิดกว้างข้อมูลภาครัฐ” และ “มาตรการชั่วคราวสำหรับการตรวจสอบการแบ่งปันและเปิดกว้างข้อมูลภาครัฐ” เป็นต้น ซึ่งเป็นกฎระเบียบและมาตรการส่งเสริม สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา Big Data ของเมืองกุ้ยหยาง และเป็นต้นแบบการจัดทำกฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวข้องให้แก่เมืองและมณฑลอื่นๆ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาพรวมการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ของเมืองกุ้ยหยางจะพบว่า เป็นการประยุกต์ใช้สำหรับการใช้งานของภาครัฐเป็นส่วนมาก การพัฒนาเชิงพาณิชย์และการใช้งานของประชาชนยังเติบโตค่อนข้างช้า และการลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลของบริษัทรายใหญ่ในเมืองกุ้ยหยาง ยังขาดการต่อยอดใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องการแผนการแก้ไขในระยะต่อไป
(photo: xinhua)
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น
เมืองกุ้ยหยางเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ของจีน ด้วยจุดเด่นด้านสวนอุตสาหกรรม Big Data ที่มีศูนย์จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลของบริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายราย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Big Data ในภาครัฐ ที่ช่วยพัฒนาการปกครองและบริหารงานของภาครัฐและการให้บริการประชาชน แก้ไขปัญหาการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลของรัฐบาล ให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรข้อมูลภาครัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ภายใต้กฎหมายที่กำกับดูแลการพัฒนาและใช้งาน Big Data ตลอดจนถึงการจัดงาน The China International Big Data Industry Expo ประจำปีที่รวบรวมทรัพยากรและพัฒนาการที่น่าสนใจของเทคโนโลยี Big Data เข้าไว้ด้วยกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจพิจารณาการศึกษาดูงานหรือสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของอุตสาหกรรม Big Data เมืองกุ้ยหยางเป็นแนวทางในการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ของไทย
ที่มา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.