(photo: xinhua)
1. ความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวทนดินเค็มของจีน
การวิจัยข้าวทนดินเค็มของจีนเริ่มต้นขึ้นในปี 2529 เมื่อนาย Chen Risheng นักวิทยาศาสตร์จาก Zhanjiang Agriculture College ค้นพบข้าวที่สามารถเจริญเติบโตได้ในดินเค็มด่าง (Saline-alkaline Soil) ในพื้นที่ป่าโกงกาง เมือง Zhanjiang มณฑล Guangdong จึงได้ทำการเก็บเมล็ดพันธุ์จำนวน 522 เมล็ดเพื่อวิจัยและคัดสรรพันธุ์ข้าว 10 สายพันธุ์ และตั้งชื่อว่า “ข้าวทนดินเค็ม 86 (Sea-rice 86)” ตามปีที่ค้นพบ (ค.ศ. 1986) จากการทดลองปลูกพบว่าพันธุ์ข้าวดังกล่าวให้ผลผลิตประมาณ 360 กิโลกรัมต่อไร่ มีข้อดีด้านความทนทานต่อโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี รวมถึงช่วยปรับปรุงคุณภาพดินหลังจากการปลูก 3-5 ปี ลดความเค็มและความด่างของดินจนสามารถเพาะปลูกพืชทั่วไปได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้าวทนดินเค็มสายพันธุ์ดังกล่าวให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ต้นทุนการผลิตยังสูงมากหากเทียบกับข้าวทั่วไป จึงมีการนำพันธุ์ข้าวทนดินเค็มมาวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนาย Yuan Longping นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน เป็นผู้ต่อยอดการวิจัยด้วยการผสมพันธุ์ข้าวข้ามสายพันธุ์ เพื่อคัดสรรพันธุ์ข้าวทนดินเค็มที่สามารถให้ผลผลิตสูง ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญทางวิทยาศาสตร์ของจีนในปี 2560 จนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสมของจีน”
ประเทศจีนมีพื้นที่ดินเค็มด่างขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และพื้นที่บริเวณชายฝั่งรวม 17 มณฑล รัฐบาลจีนเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยข้าวทนดินเค็มในการเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงทางอาหารของจีนในอนาคต จึงได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวทนดินเค็ม (Saline-Alkali Tolerant Rice Research and Development Center) ขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2559 ณ เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง เพื่อวิจัยพันธุ์ข้าวทนดินเค็มที่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ที่จะสามารถส่งเสริมให้เกิดการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพื้นที่กักเก็บน้ำของระบบชลประทานในประเทศ
เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2562 สำนักข่าว China Daily ได้รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการทดลองปลูกข้าวทนดินเค็มของศูนย์วิจัยฯ ด้วยเมล็ดพันธุ์ใหม่กว่า 300 สายพันธุ์ บนพื้นที่ทดลองปลูกขนาด 670 เฮกเตอร์ (4,187.5 ไร่) และคาดการณ์ว่าภายในปี 2562 จะขยายพื้นที่ทดลองปลูกข้าวทนดินเค็มออกไปรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,300 เฮกเตอร์ (8,125 ไร่) ในมณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลซานตง มณฑลซานซี และเขตปกครองตนเองซินเจียง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ ได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีศักยภาพว่าจะต้องให้ผลผลิตมากกว่า 720 กิโลกรัมต่อไร่ จึงจะผ่านการคัดเลือกเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ โดยนาย Zhang Guodong รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าว โดยเฉพาะผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเพาะพันธุ์เมล็ดข้าว ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตในแต่ละพื้นที่ยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เช่น ในพื้นที่ทดลองปลูกของเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ให้ผลผลิตสูงถึง 1,600 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่พื้นที่ทดลองปลูกของเมืองต้าชิ่ง มณฑลเฮยหลงเจียง ให้ผลผลิตเพียง 496 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ กำหนดเป้าหมายส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกกลุ่มแรกจำนวน 7 สายพันธุ์ไปยังกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท (Ministry of Agricultural and Rural Affairs) ภายในปี 2562 เพื่อทำการตรวจสอบ หากได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ เมล็ดพันธุ์ข้าวดังกล่าวจะได้รับการขึ้นทะเบียนและส่งเสริมให้เป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์วิจัยฯ ตั้งเป้าหมายให้มีการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศบนพื้นที่ดินเค็มขนาด 667,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 4,168,750 ไร่ ในระยะเวลา 5-8 ปีข้างหน้า
2. การใช้เทคโนโลยีพัฒนาการปลูกข้าวทนดินเค็ม
เนื่องจากพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินเค็มและมีสภาพเป็นด่าง มักจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่และแห้งแล้ง พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นบริเวณที่ขาดแคลนทรัพยากรทั้งแรงงานและน้ำ การทดลองปลูกข้าวทนดินเค็มในพื้นที่นำร่องจึงสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้ทรัพยากรแรงงาน น้ำ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ Huawei ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Big Data, Cloud Computing และ Internet of Things มาใช้ในโครงการทดลองปลูกข้าวทนดินเค็ม เพื่อจัดเก็บข้อมูล ติดตามและรายงานสภาพความเค็มของดิน การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคและกระจายตัวของศัตรูพืช พัฒนาการทดลองปลูกข้าวทนดินเค็มให้เป็นการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาจากการเพาะปลูก ระบบดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ทดลองปลูกในมณฑลซานตงในเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะนำไปทดสอบใช้ในพื้นที่ทดลองปลูกอื่นๆ ในอนาคตต่อไป
3. การขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2561 ศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมมือกับ The Private Office of Sheikh Saeed Bin Ahmed Al Maktoum ซึ่งเป็นหน่วยงานของราชวงศ์ในเมืองดูไบ ทำการทดลองปลูกข้าวทนดินเค็มสิบกว่าสายพันธุ์บนพื้นที่ทะเลทรายของดูไบที่สภาพอากาศค่อนข้างรุนแรง ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนสูงถึง 30 องศา มีพายุทะเลทราย อีกทั้งดินทรายที่ขาดแร่ธาตุและสารอินทรีย์ ซึ่งภายหลังการเพาะปลูก 5 เดือน มีผลผลิตออกมาสูงถึง 960 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งสองหน่วยงานได้ตั้งเป้าหมายการขยายพื้นที่ทดลองเพาะปลูกเป็นขนาด 625 ไร่ในปี 2562 และเพิ่มปริมาณการเพาะปลูกให้สูงขึ้นในปี 2563
นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยฯ มีแผนการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและส่งเสริมฯ ในทวีปแอฟริกา และภูมิภาคตะวันออกกลางในอนาคตอันใกล้ โดยมีหลายประเทศ อาทิ กาน่า ไนจีเรีย และปากีสถาน แสดงความสนใจในการเข้าร่วมโครงการ
(photo: xinhua)
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น
นักวิทยาศาสตร์จีนได้ทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวทนดินเค็มมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยปัจจุบันมีศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวทนดินเค็ม ณ เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง เป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและสร้างพันธุ์ข้าวทนดินเค็มผสมที่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยภายในปี 2562 ศูนย์วิจัยฯ ตั้งเป้าหมายส่งพันธุ์ข้าวผสมจำนวน 7 สายพันธุ์ให้กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีนตรวจสอบและขึ้นทะเบียนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศบนพื้นที่ดินเค็มขนาด 667,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 4,168,750 ไร่ ในระยะเวลา 5-8 ปีข้างหน้า รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ซึ่งอาจส่งผลต่อนโยบายความมั่นคงทางอาหารและการนำเข้าส่งออกธัญพืชของจีนในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ดำเนินการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวทนดินเค็มร่วมกับประเทศและภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ ภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งในอนาคตอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าข้าวของไทย ประเทศไทยจึงควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าข้าว และให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรักษาส่วนแบ่งตลาดการส่งออกข้าวของไทยในจีนและตลาดโลก
ที่มา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.