ดาวน์โหลด วารสารวิทย์ปริทัศน์ จากกรุงวอชิงตัน ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ฉบับที่ 5/2564
สำหรับคนไทยที่อาศัยในกรุงวอชิงตัน ดีซี และรัฐละแวกใกล้เคียงฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ปลายเดือนพฤษภาคมปีนี้ เป็นโอกาสพิเศษของคนที่ชื่นชอบธรรมชาติ โดยเฉพาะคนรักแมลง ที่ได้เห็นเจ้าจักจั่น (ออกเสียงพูดว่า จั๊ก-กะ-จั่น) รุ่น Brood X ซึ่งได้ทิ้งไข่ไว้เมื่อ 17 ปีก่อน (2547) ได้กลับมาร้องระงมอยู่ทั่วไปในพื้นทีสีเขียวกลางเมือง สวนสาธารณะ จนถึงป่าใหญ่น้อยทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา การกลับมาของจักจั่นนี้ ได้รับการคาดการณ์ไว้แล้ว ว่าเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่จะเวียนมาอีกครั้งในทุกๆ 17 ปี และปีนี้ เป็นการโผล่มาท่ามกลางบรรยากาศของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังค่อยๆ สงบลงใสหรัฐอเมริกาจากการระดมฉีดวัคซีนแบบลดแลกแจกแถม เหมือนการเปล่งเสียงแห่งการอภัยของธรรมชาติให้คนในประเทศมหาอำนาจได้ตระหนัก แม้ว่าการฉีดวัคซีนให้ประชากรจะยังไปไม่ถึงครึ่งทางของประชากรทั้งหมด แต่ก็เห็นได้ว่า สามารถลดอัตราการตาย และการติดเชื้อไปได้มาก ซึ่งผิดกับปีที่แล้ว ที่ชาวสหรัฐฯ ชะล่าใจ คิดว่าโควิด-19 จะจากไปในช่วงฤดูร้อนที่แสงแดดแผดแรงกล้า จึงมาเปิดแมสก็เปิดหน้า เฉลิมฉลองวันชาติ จนการระบาดแพร่ขยายสาหัสสากรรจ์ข้ามฤดูหนาว และกวาดล้างประชากรไปกว่า 600,000 คน
การกลับมาของจักจั่น BroodX เจ้าจำเรียง น่าจะทำให้มนุษย์ตระหนักและเข้าใจธรรมชาติมากขึ้นว่ามนุษย์ก็เป็นอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ธรรมชาติหรือพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมาบนโลก แต่ได้แถมสติปัญญาให้เพื่อสามารถมีอำนาจต่อรอง และปรับเปลี่ยนธรรมชาติได้ในหลายรูปแบบวิธี รวมทั้งในระยะหลัง ก็เริ่มให้เห็นความดีของโปรตีนจากแมลง ทำให้ตอนนี้การบริโภคแมลงที่ฝรั่งหรือประเทศผู้มีอารยะเคยร้องยี้เมื่อเห็นคนในประเทศกำลังพัฒนาเคี้ยวกันกรุบกรอบก็กลับมาเริ่มสนใจ ศึกษา ทดลอง ผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง จนทำให้ตลาดส่งออกแมลงระหว่างประเทศเริ่มขยับและขยายตัว มีฟาร์มแมลงขนาดใหญ่ เพาะเลี้ยงมากขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งไทย เมื่อแมลงกลายเป็นอาหารและสินค้าบริโภค การวิจัยและการพัฒนา ก็ตามมา ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย มองแมลงนั้น มีพลังและยิ่งใหญ่กว่าขนาดมากมายนัก ในการเป็นปัจจัยให้มนุษย์พัฒนาโลกในแบบที่ต้องการ
นอกจากนั้นในทางศิลป์ แมลงก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำเข้ามาไว้ในหลักปรัชญาคำสอนจำนวนมาก ตั้งแต่โบราณนานมา ไม่ว่า ผึ้ง มด ผีเสื้อ ยุง แมลงวัน จักจั่น แมลงปอ ไปจนถึง แมลงดา ล้วนถูกนำมาอุปมากับวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งที่เป็นคำสอนให้เอาอย่างและไม่เอาเยี่ยงอย่าง ศิลปะที่เกิดจากภาพแมลงในธรรมชาติก็มีมากมายในงานจิตรกรรม ประติมากรรม รวมทั้งในภาพวาด ทางวิทยาศาสตร์ อย่างคู่มือแพทย์ ที่สอนการจำแนกแมลงนำโรค ท้ายเล่มนี้ เราจึงได้นำเสนอ วิทยศิลปินแห่งสมิธโซเนียน ผู้รังสรรค์วาดภาพแมลงเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เป็นการปิดท้าย เมื่อท่านผู้อ่าน ได้อ่านไปจนจบแล้ว ก็จะมีความรู้สึก แบบนักร้องดังปลาย Gen X ทาทายัง ว่า "แมลงตัวนั้น ตัวนี้ มีเยอะมากมาย ดูไปก็รัก รักมันทุกตัว"
เผยแพร่ข่าว : นายธัชนนท์ บุญหล้า
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.