วัสดุดูดซับจากยางพารา นาโนเทคโนโลยีสำหรับขจัดน้ำมันปนเปื้อน ดูดซับน้ำมันได้ 5-18 เท่า ใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 5 ครั้ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“น้ำมันรั่วไหลทางทะเล” เป็นปัญหามลภาวะที่สำคัญ เนื่องจากเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและระยะยาวต่อสุขภาพของ มนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศ การพัฒนาวัสดุดูดซับน้ำมันที่มีราคาถูกและเหมาะสำหรับการดูดซับน้ำมันนับเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ดำเนินโครงการพัฒนาวัสดุดูดซับจากยางพาราสำหรับการขจัดน้ำมันปนเปื้อน (Development of Natural Rubber Sorbent Material for Oil Decontamination) และประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “วัสดุดูดซับจากยางพารา นาโนเทคโนโลยีสำหรับการขจัดน้ำมันปนเปื้อน” ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ให้อยู่ในรูปแบบโฟมยาง ใช้งานง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โฟมยางที่ วว. พัฒนาดังกล่าว มี 2 รูปแบบ ดังนี้
โฟมยางที่มีอนุภาคนาโนของเหล็กออกไซด์ โดยสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กออกไซด์ แล้วนำมาเป็นส่วนผสมในการขึ้นรูปโฟมยาง โดยโฟมยางที่มีอนุภาคนาโนของเหล็กออกไซด์สามารถดูดซับน้ำมันได้ 10-12 เท่าของน้ำหนักโฟมยาง สามารถใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 5 ครั้งด้วยการบีบอัดทางกล โฟมยางที่ได้มีคุณสมบัติแม่เหล็กดูดติด สามารถเคลื่อนย้ายหลังจากการดูดซับน้ำมันได้ด้วยแม่เหล็กพลังงานสูง จึงไม่เกิดแรงบิดหรือแรงกดอัดในระหว่างการเคลื่อนย้าย ทำให้ไม่มีน้ำมันรั่วไหลออกจากวัสดุดูดซับ นอกจากนี้โฟมยางที่ได้มีน้ำหนักเบา สามารถลอยน้ำได้ทั้งก่อนและหลังการดูดซับน้ำมัน ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูดซับน้ำมันปนเปื้อนบนผิวน้ำได้
โฟมยางที่มีเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยธรรมชาติที่ วว. เลือกใช้ได้แก่ นุ่น ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำมันได้ดี จากผลการทดลองพบว่า โฟมยางที่มีเส้นใยนุ่นสามารถดูดซับน้ำมันได้ตั้งแต่ 5-18 เท่าของน้ำหนักโฟมยางขึ้นอยู่กับปริมาณนุ่นที่ใส่
“...การวิจัยและพัฒนาของ วว. นี้ แม้นว่าจะยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ แต่มีแนวโน้มที่สามารถต่อยอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้เนื่องจากมีขั้นตอนในการเตรียมไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในการขยายสเกลและนำไปทดลองใช้ในสภาวะจริงสามารถนำวัสดุดูดซับจากยางพาราฯไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งการขจัดน้ำมันปนเปื้อนบนผิวน้ำ เช่น ทะเล แม่น้ำ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะมีน้ำมันปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตได้…” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. มีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มีความพร้อมในการให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบยางพาราและผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ดังนี้
1.การวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำยางข้น ได้แก่ ปริมาณของแข็งทั้งหมด ปริมาณเนื้อยางแห้ง ความเป็นกรดด่าง ปริมาณกรดไขมันระเหยง่าย ปริมาณโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ความเสถียรเชิงกลของน้ำยาง ปริมาณยางจับตัวเป็นก้อน และความหนืด
2.การวิเคราะห์คุณสมบัติของชิ้นงานยางคอมพาวด์ ได้แก่ ความหนืด การคงรูปของยาง ความหนาแน่น ความแข็ง ความต้านทานต่อแรงดึงและความยืดเมื่อขาด ความทนทานต่อการฉีกขาด ความต้านทานแรงกด ความต้านทานความร้อน (เร่งการเสื่อมอายุของยาง) จำลองสภาวะอากาศสำหรับการทดสอบความคงทนของวัสดุ ความทนทานต่อโอโซน และการกระจายตัวของสารตัวเติมในยาง
3.การทดสอบผลิตภัณฑ์ยาง ให้บริการ 5 รายการทดสอบ ดังนี้
3.1 แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต ได้แก่ความแข็ง ความต้านทานต่อแรงดึงและความยืดเมื่อความทนทานต่อโอโซน ความต้านทานความร้อน (เร่งการเสื่อมอายุของยาง) ปริมาณเนื้อยางพาราด้วย TGA
3.2 หลักนำทางยางธรรมชาติ ได้แก่ ความแข็ง ความต้านทานต่อแรงดึงและความยืดเมื่อขาดความต้านทานความร้อน (เร่งการเสื่อมอายุของยาง) ปริมาณเนื้อยางพาราด้วย TGA
3.3 ถุงมือผ้าเคลือบยางพารา ได้แก่ ความทนทานต่อการขัดถู ความทนทานต่อการบาดเฉือน ความทนทานต่อการฉีกขาด ความทนทานต่อการแทงทะลุ
3.4 ฟองน้ำลาเท็กซ์ ได้แก่ ปริมาณเนื้อยางทั้งหมด ความหนาแน่น ดัชนีความแข็งเชิงกด ความต้านทานความร้อน (เร่งการเสื่อมอายุของยาง) การยุบตัวเนื่องจากแรงกดความทนแรงอัดช้าคงที่ ค่าเตรียมตัวอย่าง
3.5 แผ่นยางปูพื้น ลักษณะมิติ ความแข็ง ความต้านทานต่อแรงดึงและความยืดเมื่อขาด การยุบตัวเนื่องจากแรงอัดความทนทานต่อการขัดสี ความต้านทานความร้อน (เร่งการเสื่อมอายุของยาง) จำลองสภาวะอากาศสำหรับการทดสอบความ คงทนของวัสดุ
แหล่งที่มาข้อมูล :
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
https://www.naewna.com/sport/578136
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.