"ภัยแล้ง" กับการกลับมาของ "เอลนีโญ"
ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ภัยแล้งค่อยเริ่มเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ สร้างความเสียหายขยายขอบเขตพื้นที่กว้างมากขึ้น จากการขาดฝน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีรุนแรงมากขึ้น แม้รูปแบบการเกิดภัยแล้งจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ถ้าสภาพอากาศหรือรูปแบบการไหลเวียนของบรรยากาศที่แปรปรวน จะส่งผลให้ฝนขาดช่วงเป็นเวลานานต่อเนื่องหลายเดือนถึงหลายปี สะสมจนอาจกลายเป็นวิกฤตเป็นภัยแล้งถาวรหรือระยะยาวได้
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิกฤตภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 66 ล้านคน นับเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีของปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” จากการเฝ้าติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกพบว่า ภัยแล้งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับด้านการเกษตรเท่านั้น ภัยแล้งยังส่งผลกระทบลุกลามถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคการบริการ ที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอย่างมาก ทั้งด้านการสูญเสียชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความมั่นคงด้านน้ำ และอาหารลดลง หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น ความยากจนที่ทวีความรุนแรงขึ้น
หากเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ในประเทศไทย ปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น
จากข้อมูลของ GISTDA เกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยในปี 2566 พบว่า หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศน้อยกว่า 30% จำนวน 528 อำเภอ ขณะที่ปี 2565 เกิดปรากฏการณ์ลานีญา พบว่า ในปีนี้มีปริมาณฝนมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศ ที่มีน้อยกว่า 30% มี 403 อำเภอ แม้จะไม่ส่งผลชัดเจนมากเหมือนปี 2561 แต่สถานการณ์เริ่มเข้าใกล้ไปทุกขณะ แหล่งน้ำหลายแห่งเริ่มตื้นเขิน แห้งขอด นั่นเป็นสัญญาณว่า เกษตรกรในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA และ ไทยรัฐออนไลน์
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.