เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 กรุงเทพมหานคร : สภาวิศวกร ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สลจ.) จัดงานเสวนา “รวมพลังปัญญา แก้ปัญหา ฝุ่นพิษ” พร้อมเปิดมุมมองนักวิชาการ ภาครัฐ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย ด้านคุณภาพอากาศ ภัยฝุ่น เทคโนโลยีเตือนภัย สู่การร่างนโยบายสาธารณะเสนอรัฐ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้จริงทั้งระยะสั้นและยาวอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของคนไทยหลังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
โดยภายในงานมีนักวิชาการชั้นนำของประเทศไทยร่วมเสวนา นำโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ประธาน ทปอ. นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย อธิการบดี สลจ. และประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกรและอดีตกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการสภาวิศวกร และรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและวัณโรคภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีเสวนาเพื่อระดมสมองนักวิชาการระดับแนวหน้าของเมืองไทย ในการฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษ ที่กระทบเศรษฐกิจ และสุขภาพปอดของคนไทยเพื่อสร้างความยั่งยืนคุณภาพชีวิตและร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ประธาน ทปอ. นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย อธิการบดี สลจ. และประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2563 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ พบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับรุนแรง ในบางพื้นที่มีปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นตั้งแต่ 20-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตของคนเมือง และขณะเดียวกันฝุ่น PM 2.5 ได้เริ่มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังจากกรุงเทพฯติด 1 ใน 10 เมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลก จึงจัดเวทีเสวนาเพื่อระดมสมองนักวิชาการระดับแนวหน้าของเมืองไทย ในการฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษ ที่กระทบเศรษฐกิจ และสุขภาพปอดของคนไทยเพื่อสร้างความยั่งยืนคุณภาพชีวิตและร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ NSD สวทช. กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่รอการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาครัฐ เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเหลือบรรเทาความรุนแรงของฝุ่นพิษ ที่พบเห็นส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤติกลับพบว่าจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ทางสวทช. จึงพัฒนาและคิดค้น เพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าว จนเกิดเป็น นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิต “ไอออนเฟรช” ซึ่งชิ้นส่วนทั้งหมดสามารถผลิตได้ในประเทศไทย ทำให้ต้นทุนถูกและสามารถผลิตได้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ โดยหลักการทำงานคือการยิงประจุให้ฝุ่น เมื่อฝุ่นกลายเป็นประจุ จะจับกับส่วนที่เป็นโลหะ ซึ่งข้อดีของไอออนเฟรช นอกจากสามารถผลิตได้ในประเทศแล้ว ลมสามารถผ่านได้มากเพราะมีช่องขนาดใหญ่ ในขณะที่เครื่องกรองทั้วไป แผ่นกรองจะกักลมไว้ประมาณ 80% และสุดท้ายคือประหยัดพลังงาน ซึ่งการผลิตเครื่องไอออนเฟรช เป็นสิ่งที่ สวทช.ทำได้ และทดลองใช้งานจริงมาแล้วทั้งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาที่สยามดดิสคัฟเวอรี่ และในงาน maker faire bangkok 2020
นอกเหนือจากนี้ยังมีในส่วนของหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 n-Breeze โดย นาโนเทค สวทช. ที่พัฒนา “แผ่นกรองนาโนสมบัติพิเศษ” ด้วยเทคนิค “อิเล็กโตรสปินนิ่ง” สร้างคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยนาโนที่เต็มไปด้วยรูพรุนให้สามารถดักจับอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาด 0.3 - 2.5 ไมครอน ได้ถึง 90-95% เป็นหน้ากากที่มีน้ำหนักเบา ใส่สบาย และหายใจได้สะดวก และ หน้ากากอนามัย เซฟีพลัส (SafiePlus+) โดย A-MED และเอ็มเทค สวทช. หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 99% ด้วยเทคโนโลยีการดักจับฝุ่นละอองและจุลินทรีย์ จากสารเคลือบไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซต์ บนวัสดุนอนวูพเวน (non-woven) ที่มีเส้นใยธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ และมีรูพรุนระหว่างเส้นใยขนาดเล็ก จึงทำให้มีคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดอนุภาคเฉลี่ย 0.3 ไมครอน (PM2.5) และอีกสิ่งหนึ่งที่ทางสวทช. กำลังพัฒนา คือ ลูกบอลสำหรับดับเพลิงที่ควบคุมผ่านโดรนบังคับ เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหรือไฟไหม้ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด PM 2.5
ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าของทุกภาคส่วนที่ต้องตระหนักถึงปัญหาซึ่งอาจส่งผลกระทบได้ทั้งด้านสุขภาพความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น การเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการลงมือวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ผ่านนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญระดับแนวหน้าในทุก ๆ ด้านเพื่อวางแนวทางแก้ไขและสร้างความยั่งยืน สร้างคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.