เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 อาคารจามจุรีสแควร์ - สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัด NXPO Special Talk “การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะ (System Research for Public Policy)” เชิญ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ และวางรากฐานการวิจัยระบบสาธารณสุขของไทย รวมถึงเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านนโยบายสาธารณสุขกับองค์การอนามัยโลก มาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยมีเครือข่ายนักวิจัยตบเท้าเข้าร่วมคับคั่ง ด้าน สอวช. สกสว. ร่วมถอดรหัสความสำเร็จเก็บข้อมูลพร้อมศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีในการทำวิจัย เตรียมลุยทำวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง (System Research for Transformative Changes) 9 ประเด็น
ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เผยว่า NXPO Special Talk ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นแนวทางการจัดทำการวิจัยเชิงระบบของประเทศ ซึ่งการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศถือเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่ควรแก่การศึกษาเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีในการทำวิจัยเชิงระบบที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศ จึงได้เชิญ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผู้ที่มีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบสาธารณสุขไทยมาแลกเปลี่ยน และเป็นโอกาสของ สอวช. และ สกสว. ที่จะได้ศึกษาแนวทางและกลไกแห่งความสำเร็จดังกล่าวเพื่อมาประกอบการทำงานด้านวิจัยเชิงระบบที่ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กำหนดประเด็นการวิจัยเชิงระบบเพื่อการกำหนดนโยบาย อววน. ไว้ 9 ประเด็น ประกอบด้วย การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การปฏิรูประบบอุดมศึกษา ระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม ระบบวิจัยและนวัตกรรมอาหาร การปฏิรูประบบเกษตรของไทย ระบบพลังงานในอนาคต การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาประชากรกับความหลากหลายของขั้นชีวิต (Multi-stage Life)
ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า การทำวิจัยเชิงระบบต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจที่จะทำให้ระบบของประเทศก้าวไปข้างหน้า ผ่านการตั้งใจตั้งคำถามให้ดีและค้นหาคำตอบ และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการวิจัยเพื่อพัฒนาอะไร เพราะแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีดีเท่าไหร่ แต่ถ้าระบบไม่ดีก็ไม่สามารถเดินต่อได้ เราต้องอย่าเชื่อแค่เทคโนโลยีแต่ต้องทำวิจัยเชิงระบบควบคู่ไปด้วย ดังนั้นการลงทุนเพื่อการวิจัยเชิงระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ การวิจัยเชิงระบบเป็นการหาข้อมูลความรู้ในระบบที่มีความซับซ้อนเพื่อมาใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจหรือลงมือปฏิบัติ ตลอดจนเพื่อเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและสามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การทำวิจัยเชิงระบบให้ประสบความสำเร็จต้องมีการทำ System Framework และควรมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลและมีทีม Full Time ที่มาดูแลโดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือการสร้าง Stakeholder Engagement สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบนั้นๆ และ System Research ควรทำไปพร้อมๆ กับการปฏิรูประบบวิจัย (System Reform) เพราะจะช่วยรายงานปัญหาได้ในทุกระดับ และสามารถนำไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบายได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้าง โดยมีการพูดถึงเคล็ดลับความสำเร็จของการวิจัยเชิงระบบที่มีกุญแจสำคัญอยู่ที่การสร้าง Stakeholder Engagement ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้การพัฒนาระบบดังกล่าวส่งต่อไปถึงผู้รับประโยชน์อย่างแท้จริงผ่านการสร้างเป้าหมายและกำหนดโจทย์ร่วมกัน รวมถึงการค้นหาโจทย์วิจัยที่ควรได้มาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และมากำหนด Priority Setting โดยการดูแนวทางตามบริบทโลก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.