24 กุมภาพันธ์ 2563 : รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเรื่องการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตร (non degree) เพื่อการยกระดับทักษะกำลังคนของประเทศ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถนนศรีอยุธยา
รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวเปิดและมอบนโยบายในช่วงหนึ่งว่า “อว. ได้รับมอบหมายกำหนดหลักสูตรสาขาเป้าหมาย รวมทั้งกลไกพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูงร่วมกับภาคเอกชน และดำเนินการรับรองประกาศหลักสูตรและการศึกษาเป้าหมายร่วมกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเวทีการประชุมในครั้งนี้จะเป็นวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นย้ำในสองเรื่องคือ Innovation และ Entrepreneurship สองสิ่งนี้จะเป็นทิศทางใหม่ของมหาวิทยาลัยในอนาคตนับตั้งแต่วันนี้สืบไป การเรียนการสอนที่เป็น degree ต้องดำเนินต่อไปแน่นอนเพราะเป็นสิ่งที่จะเป็นมาตรฐานในการสร้างคนและสร้างวิชาชีพ แต่เชื่อว่าในการสร้างคนบนพื้นฐานทักษะใหม่หรือทิศทางใหม่จะเป็นเรื่องของความต้องการของประเทศ เราจึงควรตระหนักถึงการเรียนการสอนแบบ non degree ต้องมีการเพิ่มทักษะ สร้างทักษะ และอีกอย่างที่สำคัญคือ Live long learning “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หมายความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล อันเป็นผลมาจากการได้รับความรู้ ทักษะ หรือประสบการณ์จากการศึกษา หรือจากกิจกรรมในวิถีชีวิตที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการ รมว. อว. กล่าวตอนหนึ่งว่า “การรวมตัวกันและทำความเข้าใจร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย ถึงแนวทางการสร้างคนเพื่ออนาคตเพราะถ้าเราจะรอเพียงแค่แบบ degree อย่างเดียวคงไม่พอ การที่เรามาช่วยกันเน้นหนักในเรื่องของ non degree เพราะในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงกลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ทุกคนที่เป็นวัยแรงงานจำนวนกว่า 30 ล้านคนในประเทศไทยน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่จะต้องมีการ รีสกิล อัพสกิล หรือสร้างสกิลใหม่ๆ เพื่อไปสู่การแข่งขันอย่างมีคุณภาพ”
“รมว. อว. กล่าวอยู่เสมอว่า การที่ อว. เข้ามาเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาและฝ่ายที่เป็นสถาบันวิจัยของประเทศทั้งหลาย หัวใจสำคัญที่จะร่วมกันสร้างคือ Smart Citizen นั่นหมายความว่าการเรียนรู้ย่อมไม่มีวันสิ้นสุด และคนยุคใหม่ต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลาโยเฉพาะในศตวรรษ 21 การที่เรามี Soft skill จะทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สามารถทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขานุการ รมว. อว. กล่าวในตอนท้าย
ภายในการประชุมสัมมนาดังกล่าวมีการอภิปรายชี้แจงเรื่องการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมและการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตร (non degree) เพื่อการยกระดับทักษะกำลังคนของประเทศ และการรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมี ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายพร้อมร่วมอภิปราย และได้กล่าวว่า “ปัจจุบันโลกเราได้พัฒนาไปมากแล้วทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และสัมคมเทคโนโลยี ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันเพื่อทำงานที่จะสร้างคนไทยทั้งภาครับ เอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัย เพราะทุกฝ่ายล้วนมุ่งเป้ามาที่อุดมศึกษาเพราะหวังว่าอุดมศึกษาจะเป็นขุมกำลัง ขุมปัญญาที่จะช่วยสร้างคนไทยให้ก้าวเข้าไปสู่โลกยุคใหม่ได้ ซึ่งปัจจุบันการรีสกิล อัพสกิล เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันและให้ความสำคัญ ต้องหาแนวทางหรือวิธีการอย่างไรให้อุดมศึกษาและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกันมากขึ้น ปัจจุบัน อว. ต้องการที่จะผลิตคนไปตอบโจทย์กลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ ในอนาคตจะพัฒนาให้ครบทั้ง 12 S-Curve (ประกาศไปแล้ว 10+2) การที่ทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมมีการกำหนดสกิลที่ชัดเจน จะทำให้ส่วนของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนจะเห็นภาพว่าอนาคตจะนำสกิลใดบ้างไปพัฒนาเพื่อเป็นหลักสูตร non degree เพียงเท่านั้นไม่พอต้องนำกลุ่มสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศด้านอื่นเข้ามาด้วย เช่น Soft skill ทางโครงการจึงจะนำเรื่องของภาษาอังกฤษเข้าไปรวมอยู่ในหลักสูตรด้วย และยังมีอีกสามกลุ่มที่เป็นอาชีพหลักและสำคัญกับคนไทย คือ Smart Farming (การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตร) ในปัจจุบันเข้าสู่สังคมสูงวัยเราจึงต้องมีหลักสูตร elderly care (การดูแลผู้สูงอายุ) เรื่องสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และทุกหลักสูตรจะมีมาตรฐานวิชาชีพที่ชัดเจนทำให้ต่อไปผู้ที่เข้าร่วมหลักสูตร non degree สามารถเพิ่มมูลค่าในสาขาวิชาชีพนั้นๆ”
“มหาวิทยาลัยในประเทศไทยปัจจุบัน ในการออกแบบหลักสูตรควรเน้นเรื่องของกลุ่มของทักษะ ความรู้ ความสามารถ เป็นสำคัญ เพราะแต่ละหลักสูตรผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมพอออกมาแล้วจะมีสกิลอะไรบ้างไม่ว่าเป็น Hard skill หรือ Soft skill ต้องมีความชัดเจน เพราะท้ายที่สุดแล้วเราอยากให้กลุ่มคนพวกนี้เกิดความชำนาญในด้านนั้นจริงๆ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอนาคตของประเทศไทย” รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวในตอนท้าย
วัชรพล วงษ์ไทย : เขียนข่าว
อินทิรา บัวลอย : ถ่ายภาพ
จรัส เล็กเกาะทวด : วีดีโอ
ปราณี ชื่นอารมณ์ : เผยแพร่ข่าว
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.