ณ ห้องบรรยาย 1 อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ฉลาดคิด ฉลาดปลูก ฉลาดขาย ให้ได้มะเขือเทศคุณภาพ” แก่เกษตรกรและผู้สนใจภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) ที่มีความพร้อม ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมมากกว่า 30 คน
ภายในงาน มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในการผลิตมะเขือเทศผลสดจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมอบความรู้ในเรื่องการผลิตมะเขือเทศ ได้แก่ ศาสตราจารย์ สุชีลา เตชะวงค์เสถียร ในเรื่อง “รู้รอบ จัดการปัจจัยการผลิตมะเขือเทศแบบครบวงจรและการผลิตมะเขือเทศอย่างไรให้ได้คุณภาพ” โดยในวันแรก เน้นการให้ข้อมูลในเรื่องของปัจจัยการผลิตมะเขือเทศผลสดที่สำคัญ เช่น การเตรียมต้นกล้า การเตรียมแปลงปลูกและระบบน้ำ การตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสมต่อระยะการเจริญเติบโตของมะเขือเทศในแต่ละช่วง การจัดการปุ๋ยและธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ รวมถึงการกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยการใช้ชีวภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ นอกจากปัจจัยการผลิตดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังรวมไปถึงการเก็บเกี่ยว ขนย้ายและการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีมูลค่าสูงกว่าในปัจจุบันอีกด้วย
และ session ถัดไป รศ.ดร.สังคม เตชะวงค์เสถียร ได้ให้ความรู้ในเรื่อง “รอบรู้ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่อการติดผลของมะเขือเทศ” ซึ่งเน้นการอบรมในเรื่องของสภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ มีผลต่อการเจริญเติบโตของมะเขือเทศว่ามีเป็นอย่างไรบ้าง และวิธีการควบคุมสภาวะแวดล้อมในการปลูกมะเขือเทศให้เหมาะสมในสภาวะปัจจุบัน ซึ่งเรากำลังประสบสภาวะ climate change (ภาวะโลกร้อน) อยู่นั้นเอง
ช่วงบ่ายของวันแรกในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสร่วมฐานกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเตรียมวัสดุปลูกและการเพาะกล้า ต่อด้วยฐานการทำค้างแบบต่าง ๆ และตัดแต่งกิ่งมะเขือเทศให้เหมาะสมในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต และฐานที่สามคือ การรู้จักการใช้สารเคมีจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งแต่ละฐานนั้น มีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายให้ความรู้แก่ผู้อบรม รวมถึงการอบรมครั้งนี้ ยังได้นำผู้เข้าอบรมร่วมลงดูแปลงมะเขือเทศในโรงเรือน ณ Agritec Station บริเวณด้านหน้าอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พร้อมทดลอง เด็ด ชิม มะเขือเทศผลสดพันธุ์ต่างๆ เช่น พันธุ์ Shiny Queen (ผลสีเหลือง) พันธุ์ Beauty Jade (ผลสีเขียว) พันธุ์ Orange KKU (ผลสีส้ม) พันธุ์นิลมณี (ผลสีม่วง-แดงเข้ม) ซึ่งเป็นผลผลิตภายในโรงเรือนอัจฉริยะ และแปลงปลูกภายนอก ของ สวทช.
สำหรับการอบรมในวันที่สอง เริ่มต้นจากวิทยากร คุณเฉลิมชัย เอี่ยมสอาด นักวิชาการอาวุโส สท. สวทช. มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “เรียนรู้ โรงเรือนปลูกพืชและระบบควบคุมสำหรับปลูกพืช” โดยได้ให้ความรู้ในเรื่องของโรงเรือนที่ใช้ในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการออกแบบโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆในโรงเรือน นอกจากนี้ ได้ให้ความรู้เรื่องระบบควบคุมสภาวะแวดล้อมในโรงเรือน ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมในโรงเรือน โดยสั่งงานอุปกรณ์ในโรงเรือนผ่านเซนเซอร์ต่างๆ เช่น เซนเซอร์วัดความชื้นดิน เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ และสามารถเก็บข้อมูลสภาวะแวดล้อมในด้านต่างๆมาจัดเก็บใน server เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิจัยต่อไป
ต่อด้วย คุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ Young Smart Farmer จ.มหาสารคาม ในเรื่อง “รู้จัก รู้ใช้ ระบบน้ำสำหรับโรงเรือนปลูกพืช” ประกอบด้วย เทคนิคการคำนวณปริมาณน้ำในการให้ต้นพืชในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบน้ำหยด ระบบมินิสปริงเกอร์ ระบบหัวฉีดสเปรย์ ฯลฯ ขณะที่ภาคบ่าย ผู้เข้าอบรมได้ร่วมรับฟังการบรรยายในหัวข้อเคล็ด (ไม่) ลับ “สร้างตลาดสินค้าเกษตรอย่างไรให้ปัง” จากคุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ กันต่อเพื่อให้ทราบถึงแนวทางการแบ่งตลาดของสินค้าเกษตรออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ตลาดระดับ 1 คือ ส่งร้านค้าชุมชน โรงพยาบาลในจังหวัด คิดเป็น 30 % ส่วนตลาดระดับ 2 คือ ส่งห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น เทสโก้โลตัส เซ็นทรัล ฯลฯ คิดเป็น 60 % และตลาดระดับ 3 คือ การค้าและขายในรูปแบบออนไลน์ คิดเป็น 10 % หลังจากนั้น ได้มีการให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้แบ่งกลุ่มเพื่อแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่ได้รับการอบรมมาทั้ง 2 วัน ได้แก่ โรงเรือนปลูกพืช การผลิตพืช และการตลาด ว่าแต่ละกลุ่มมีแนวคิดอย่างไร โดยท้ายที่สุดทางผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านได้ให้ข้อคิดเห็นในแต่ละเรื่อง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าอบรมทั้งหมด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.