เมื่อวันที่ 22 ก.พ. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน "ตามรอยวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบันในภาคใต้” ซึ่งจัดโดยวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือธัชชา ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นกับสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา โดยมี อ.วิชัย รักชาติ อ.เฉลิมพล โตสารเดช อ.สิทธิโชค เต็มสวัสดิ์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พร้อมด้วย ผศ.ดำรงค์ ชีวะสาโร จากมหาวิทยาลัยทักษิณ อ.สุทธิศักดิ์ น้ำทิพย์ จากวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช เป็นวิทยากรการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ลวดลายไทย...ที่มาและความหมายแห่งความงาม” ของ 5 ภูมิภาคของไทย และมี ดร. สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ จังหวัดสงขลา
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ทำให้เข้าใจ "งานช่างศิลป์ท้องถิ่นธัชชา" ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีรากเหง้า และเป็นคุณค่าที่สืบต่อมาตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งต้องรักษาไว้ และส่งต่อไปให้เยาวชนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ภูมิปัญญาเหล่านี้ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่นอีกด้วย อย่างในวันนี้ตนได้รู้จักแม่ลาย ซึ่งเป็นแม่บทเบื้องต้น มีแม่ลายพื้นฐาน แม่ลายกระหนก แม่ลายดาว แม่ลายดอกสี่กลีบ และแม่ลายพุ่ม ทำให้รู้สึกซาบซึ้งในศิลปะและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก และดีใจที่มีเยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมฟังเสวนาฯ ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้เข้าใจและภาคภูมิใจในแผ่นดิน รวมทั้งภูมิภาคของตนเอง ส่วนการเยี่ยมพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา นอกจากจำทำให้ได้รู้จักวัฒนธรรมของคนใต้ผ่านนิทรรศการในห้องต่าง ๆ แล้ว ยังได้ชมวิวสวย ๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ ของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มอ. ซึ่งเป็นแหล่งรวมผ้าทอพื้นบ้านของภาคใต้ที่หาชมได้ยากอีกด้วย
ด้าน ดร.สิริกร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสธัชชาครบรอบ 3 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 นอกจากจะจัดให้มีการเสวนาฯ นำเสนอลวดลายไทยของภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตประเพณีของแต่ละท้องถิ่นแล้ว ยังมีการนำผลงานของสถาบันฯ มาจัดแสดงอีกด้วย ซึ่งผลงานทุกชิ้นนักวิจัยของเราได้เข้าไปปลุกความคิดสร้างสรรค์ให้กับชาวบ้าน ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สอยของคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้เราจะต้องต่อยอดโดยการบูรณาการกันระหว่างสถาบันภายใต้ธัชชาให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปพัฒนาประเทศ โดยเริ่มจากรากฐาน ชุมชน ท้องถิ่น สู่ประเทศต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.