เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการให้การปรึกษาวัยรุ่น โดยมี น.ส.วราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วิทยากร พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสหวิชาชีพ ผู้บริหารและตัวแทนสถาบันอุดมศึกษา ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 อาคารอุดมศึกษา 2 สป.อว. (ถนนศรีอยุธยา)
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า สังคมยุคปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นยุคที่ก้าวข้ามสู่สังคมดิจิทัล รัฐบาลจึงมีนโยบายในการพัฒนาประเทศที่เน้นขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องอาศัยหลายองค์ประกอบในการขับเคลื่อนและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ การเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้สามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพและทักษะแห่งอนาคต จึงถือเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถดำเนินชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข คือ การได้รับบริการให้คำปรึกษาและแนะแนวการศึกษา โดยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เนื่องจากบริการดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักศึกษาที่ประสบปัญหาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่มีความซับซ้อนที่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ใจ ความกลัว ความวิตกกังวล และต้องตัดสินใจเพื่อแก้ไขหรือหาทางออก หากได้มีโอกาสเข้ารับบริการก็จะสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกวิธี
ที่ปรึกษา รมว.อว. กล่าวต่อว่า น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ก็ได้มีความห่วงใยนิสิต นักศึกษาที่ต้องเผชิญกับสภาวะความเครียด จึงมีนโยบายให้วางระบบในการดูแลนักศึกษาให้ทั่วถึง สามารถช่วยคัดกรองหรือตรวจพบนักศึกษาที่อาจอยู่ในภาวะเครียดต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้ได้มีโอกาสดูแลสุขภาพ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” โดยในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงมีนโยบายในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวโดยการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจัดตั้ง Student Wellness Club เพื่อแนะแนวการเรียน อาชีพ และดูแลสุขภาพจิตให้แก่นักศึกษา เป็นโครงการเร่งด่วนที่กระทรวงจะต้องดำเนินการ (Quick win) รวมทั้งสนับสนุนการจัดโครงการหรือกิจกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการให้บริการคำปรึกษาและแนะแนวการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาระบบอาจารย์ที่ปรึกษา และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานด้านการให้คำปรึกษาและงานแนะแนวการศึกษาทั้งเครือข่ายภายในสถาบันอุดมศึกษา และเครือข่ายภายนอกอาทิ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพจิต สมาคมจิตวิทยาการปรึกษา สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนานักศึกษามีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สป.อว. โดยความร่วมมือกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการให้การปรึกษาวัยรุ่น ในระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 ณ ดำเนินพวา รีสอร์ท จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีรูปแบบการฝึกอบรม ประกอบด้วย การอภิปราย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การฝึกทักษะการให้การปรึกษา ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ (Supervision) โดยมีเนื้อหาการฝึกอบรม อาทิ เปิดโลกการให้การปรึกษาวัยรุ่น, ครอบครัวกับการให้การปรึกษา, ปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวชที่พบบ่อยในวัยรุ่น และการฝึกปฏิบัติเพื่อเพิ่มทักษะในหัวข้อต่างๆ อาทิ การสร้างสัมพันธภาพกับวัยรุ่น ทักษะเฉพาะกับวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ฯลฯ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านแนะแนวการศึกษาหรืองานให้คำปรึกษาได้ตระหนักถึงปัญหาหรือวิกฤติการณ์ที่มีผลกระทบต่อนักศึกษา รวมถึงมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีทักษะที่ถูกต้องในการให้บริการคำปรึกษาแก่นักศึกษา
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.