เมื่อวันที่ 8 มี.ค. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมงาน Thammasat International Women’s day 2024 “Change in Challenge” เพื่อมุ่งไปสู่การสนับสนุนความเท่าเทียม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเพศ สร้างความเข้าใจกันระหว่างเพศ และถือเป็นโอกาสการเฉลิมฉลองความสำเร็จบนความท้าทายของผู้หญิงในโลกปัจจุบัน โดยมี รศ. โรจน์ คุณอเนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณหญิงสุดารัตน เกยุราพันธ์ อดีตร มว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต รมว.สาธารณสุข นางนวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ที่ปรึกษากฎหมาย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย น.ส.ชุติกาญจน์ สุวรรณโคตร Miss Fabulous International 2022 บุคลากรมหาวิทยาลัย และนักศึกษาเข้าร่วมงาน ณ โรงภาพยนตร์วารสาร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
น.ส.สุชาดา กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นมาก และเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงออกถึงความสามารถ ได้แสดงศักยภาพและพลังของตัวเอง ผู้หญิงไทยทุกวันนี้ได้พัฒนาตัวเองทันต่อยุคสมัย ได้รับการศึกษาในระดับสูงเพิ่มมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้ และมีผู้หญิงจำนวนมากดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับประเทศและระดับองค์กรชั้นนำเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น อย่างเช่น น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. แสดงให้เห็นว่า ช่องว่างระหว่างเพศในสังคมไทยเริ่มลดลง มีความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงและผู้ชายเหมือนกัน แต่หมายถึง การที่ผู้หญิงและผู้ชายได้ใช้ประโยชน์จากโอกาส ทรัพยากร และผลตอบแทนจากการพัฒนาที่มีคุณค่าทางสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ยิ่งไปกว่านั้นในตอนนี้ เราจะเห็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จสูงระดับโลกอย่าง Taylor Swift ซึ่งมีรายงานว่า การแสดงคอนเสิร์ต 53 แห่งในสหรัฐอเมริกาของ Swift ตลอดปี 2023 ช่วยเพิ่ม GDP ภายในประเทศได้ 154,000 ล้านบาท หรือคอนเสิร์ตของ Swift ในแคลิฟอร์เนีย 6 แห่ง ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 3,300 ตำแหน่ง ล่าสุด จากการจัดคอนเสิร์ตในสิงคโปร์ 6 รอบ สร้างผลกระทบในหลายๆ ด้าน จนกระทั่งมหาวิทยาลัยดังระดับโลกเปิดคอร์สเรียนเกี่ยวกับ Taylor Swift
น.ส.สุชาดา กล่าวต่อว่า พลวัตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้การพัฒนาการศึกษาและสร้างกำลังคนต้องปรับรูปแบบใหม่ที่ไม่อยู่ในกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ โดยใช้กรณีศึกษาจริงเป็นข้อมูล อย่างเช่นกรณี Swift ที่เป็นทั้งนักแต่งเพลง นักธุรกิจและอินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้นแบบ ทำให้ผู้เรียนสนใจที่จะศึกษาเรียนค้นคว้า และเกิดแรงบันดาลใจที่กล้าจะทำสิ่งใหม่ๆ สำหรับภาพรวมของระบบอุดมศึกษาไทย ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของผู้หญิงไทยในแวดวงต่างๆ ทั้งการศึกษา วิจัยและนวัตกรรม และธุรกิจ โดยมีสัดส่วนผู้หญิงในระบบมากกว่าผู้ชายในทุกระดับ ที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหญิงของไทยที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมโครงการ “เพื่อสตรี ในงานวิทยาศาสตร์” อย่างต่อเนื่อง
“เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลในปีนี้ ขอชักชวนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสตรีในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานรัฐ สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และภาคเอกชน รวมถึงการยกระดับการพัฒนาสตรีให้สอดคล้องกับหลักสากล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาและการเรียนรู้จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิม ๆ แต่ต้องผนวกการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้ทันยุคสมัย เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดความเสมอภาคนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดิฉันในฐานะผู้แทนกระทรวง อว. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ผู้หญิงได้มีโอกาสแสดงพลังความสามารถของตัวเอง และได้รับโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อจะได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสร้างพลังการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป” น.ส.สุชาดา กล่าว
ทำข่าว : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.