รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกือบทุกครอบครัวต่างมองว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะหมายถึงอนาคตของเด็ก ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนทุ่มเทและวางแผนชีวิตกันล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 ปี กลุ่มที่มีโอกาสทางสังคมสูงกว่าก็จะมีโอกาสได้ศึกษาในหลักสูตรที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ มากกว่ากลุ่มที่ขาดโอกาสการเข้าถึง ด้วยข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจในสังคมไทย จึงมีค่านิยมในเรื่องการเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดัง เพราะเมื่อจบการศึกษาก็จะได้มีโอกาสได้งานทำหรือศึกษาต่อในต่างประเทศได้มากกว่า แม้ว่าระบบ TCAS จะออกแบบระบบให้รองรับความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย โดยดูจากรอบของการคัดเลือกที่เปิดให้มีหลายรอบ ได้แก่ รอบ 1 (พอร์ตโฟลิโอ) สำหรับผู้มีประวัติ ผลงงาน ความสามารถโดดเด่น รอบ 2 (โควต้า) สำหรับผู้เรียนในพื้นที่ รอบ 3 (แอดมิชชั่น) เป็นรอบที่ใช้คะแนนจากผลการสอบรายวิชานำมาเป็นเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือก โดยการสอบรายวิชาที่กำหนดให้มีรายวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) รายวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (TPAT) และรายวิชาเชิงวิชาการ (A-level) ซึ่งทาง ทปอ. จัดให้เป็นการสอบระดับชาติ จัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศทุกจังหวัด โดยเป็นรอบที่นักเรียนให้ความสนใจมากที่สุดจากจำนวนหลักสูตร และมีจำนวนที่นั่งที่รองรับไว้กว่า 2 แสนที่นั่ง จาก 60 สถาบันอุดมศึกษา
“แต่จุดสำคัญของปัญหา (Pain Point) ที่สังคมเรียกร้องมาโดยตลอด คือ ความต้องการที่จะเห็นข้อสอบในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการซื้อขายข้อสอบที่ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ หรือได้ข้อสอบมาจากโรงเรียนกวดวิชา เกิดรายได้จำนวนมากให้โรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ จนเป็นค่านิยมของสังคมไทยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยนี้ต้องเรียนจากโรงเรียนกวดวิชานี้เท่านั้นสร้างแบรนด์ของโรงเรียนกวดวิชาได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นทุกปี” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า
“ผลของการเปิดเผยข้อสอบนี้คาดว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มนอกเหนือจากตัวนักเรียนเองที่จะเกิดความเสมอภาคทางสังคมในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ในกลุ่มครูผู้สอนในโรงเรียนก็ยังได้ศึกษาเนื้อหาข้อสอบเพื่อนำไปปรับปรุงเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการนักเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา พร้อมกันนี้ จะขอความร่วมมือจาก ทปอ. ได้ช่วยเหลืออบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมต่อไปด้วย ในส่วนของผู้ปกครองก็คงจะสบายใจและลดภาระทางเศรษฐกิจได้บ้าง กับการเตรียมความพร้อมให้ลูกหลานได้เข้าถึงระบบอุดมศึกษาได้ง่ายขึ้น เป็นการนำอนาคตที่ดีมาไว้ในมือของเยาวชนได้อย่างทั่วถึง ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาก็จะได้ผู้เรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพที่จะเรียนจบในหลักสูตรเป็นกำลังสำคัญที่ตรงกับความต้องการของประเทศ”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.