เมื่อวันที่ 28 มี.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนาพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลังมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Campus)" จัดโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 170 แห่งเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 2-3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีพลังอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศ ในเรื่อง Net Zero Emission ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่ผูกโยงทั้งมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม เนื่องด้วย อว. มีทรัพยากรที่พร้อมจะเข้าหนุนการดำเนินงานในเรื่องนี้ อาทิ อว. มีบุคลากร นักวิจัย ที่จะเป็นทั้งที่ปรึกษา ผู้ทวนสอบคาร์บอนฟุตปริ้นท์องค์กรและผลิตภัณฑ์ และผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับภาคเอกชน ชุมชน และภาครัฐ ที่จะทำให้บรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในทุกภาคส่วน รวมทั้งนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการลงได้ อว. มีองค์ความรู้จากการทำวิจัยและนำไปสู่การพัฒนากระบวนการใหม่ๆ ที่สร้างนวัตกรรมและ Solution ที่ภาคเอกชนต้องการ พร้อมทั้งเป็นแหล่งดูดซับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมของประเทศไทยต่อไป
น.ส.ศุภมาส กล่าวต่อว่า ล่าสุด อว. ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “อว. For EV” ที่มีมาตรการสำคัญ คือ EV Transformation โดยมีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของ อว. ปรับเปลี่ยนรถที่ใช้งานเป็นรถ EV 30% ภายในปี 2030 ซึ่งหลาย ๆ มหาวิทยาลัยได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถ EV แล้ว ทั้งนี้ หากบรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าหมาย 5,000 คัน ภายในปี 2030 ก็จะช่วยประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละประมาณ 500,000 ตัน นี่ถือเป็นความร่วมมือของทุกมหาวิทยาลัยที่จะร่วมกันดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในด้านพลังงาน และการจัดการของเสีย ซึ่งจะมีการพัฒนาฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรายสาขาต่าง ๆ และการพัฒนาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการทำงานวิจัยและใช้นวัตกรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถขยายไปสู่การสนับสนุนให้มีการเรียนการสอน การทำวิจัย และการจัดสรรทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องและตรงตามความต้องการอย่างแท้จริงต่อไปได้
“ความร่วมมือและการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่เชิญภาคีสำคัญที่หลากหลาย และมีหน้าที่ที่แตกต่างกันมาเสริมกันและกัน เพื่อจะทำให้งานที่ตั้งเป้าหมายสำเร็จได้ ทั้งยังเป็นการเปิดแนวคิดและโครงการความร่วมมือของสิ่งที่จะดำเนินการ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจรายละเอียดไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะในการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มเครือข่ายที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย สังกัด ทปอ. ทั้ง 4 แห่ง และเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ SUN Thailand (Sustainable University Network) เพื่อสร้างพลังมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในมหาวิทยาลัยให้สำเร็จลุล่วง และขยายความร่วมมือไปยังภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายในอนาคตต่อไป” รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.