เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีส่งมอบนวัตกรรม “เท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace)” คุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ให้โรงพยาบาล 7 แห่ง ภายใต้โครงการของขวัญปีใหม่ 2567 จากกระทรวง อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ พร้อมด้วยตัวแทนผู้รับมอบนวัตกรรมเท้าเทียมทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร โรงพยาบาลสิรินธร ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลสมุทรสาคร สถาบันราชประชาสมาสัย สมุทรปราการ และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ถนนโยธี
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า เมื่อช่วงปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ประกาศความตั้งใจที่จะส่งมอบความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วยการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ประเทศในทุกมิติทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตอบโจทย์ความต้องการของภาคประชาชน ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ที่สอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาล
“โครงการพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) เป็นโครงการที่นำนวัตกรรมที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานไปตอบโจทย์ความต้องการของผู้พิการ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างมีคุณค่า เข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึง นับว่าเป็นงานสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างความสุขให้คนไทย ผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรมไทยต่อไป“ รมว.อว. กล่าว
ดร.วิภารัตน์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วยฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นองค์ความรู้ที่เสริมศักยภาพในด้านคุณภาพชีวิต โดย วช. ได้รับการสนับสนุนจาก ผศ.ดร.ไพรัช และคณะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการขาขาดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าเท้าเทียมจากต่างประเทศซี่งมีราคาสูง เพื่อช่วยเพิ่มความสุขให้กับผู้พิการโดยจะมีการติดตามประเมินการใช้งาน เพื่อนำข้อมูลสนับสนุนการขอเข้าระบบของ สปสช. ในช่วงต่อไป
ด้าน รศ.ดร.ไพรัช กล่าวถึง การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) มุ่งหวังให้ผู้พิการเข้าถึงและนำนวัตกรรมที่ทันสมัย มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดให้ประชาชนผู้พิการทุกกลุ่มได้ยกระดับความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
เท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2566 และได้ผ่านการทดสอบตามมาตรการสากล ISO 10328 จากประเทศเยอรมนี และทำการทดลองทางด้านคลินิกโดยโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ว่าเป็นวัสดุอุปกรณ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ และถูกพัฒนาโดยฝีมือนักวิจัยของไทย ซึ่งในปีนี้ วช. ได้กำหนดการส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) ทั่วทุกภูมิภาค และได้ติดตามประเมินผลการใช้งานเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผน และการผลักดันเข้าสู่ระบบสุขภาพต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอินทิรา บัวลอย, นายนนท์ปวิธ บุญหล้า
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.