เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนทางภาคเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์กระดาษสาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างรายได้จากการส่งออกกระดาษสาและผลิตภัณฑ์มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวรวมเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ชุมชนที่ผลิตกระดาษสา ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้และทำกิจกรรมการผลิตกระดาษแบบดั้งเดิมจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการประกอบอาชีพด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเพื่อเป็นการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
ตนขอชื่นชมกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ที่ประสบความสำเร็จด้วยการนำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ การผลิตกระดาษสา การสร้างลวดลาย สีสัน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ให้เร่งขยายพื้นที่การดำเนินงาน และสร้างความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหน่วยงาน อว.ระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรโยชน์ประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตกระดาษสาส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการผลิตตามความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.อว. ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ลงสู่พื้นที่ที่มีการผลิตกระดาษสาเพื่อการส่งออก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน เพื่อยกระดับคุณภาพกระดาษสาสำหรับส่งออกในด้านต่าง ๆ เช่น สีสัน ลวดลาย การเพิ่มความเรียบ ความสม่ำเสมอ ความแข็งแรง การต้านลามไฟของเนื้อกระดาษ และลดความเป็นกรดด่าง ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังเร่งให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มเทคนิค และจัดสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และน่าน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกระดาษสา โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตกระดาษหัตถกรรมให้เหมาะกับการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ สีสัน ลวดลาย บนกระดาษสาด้วยเทคนิค Ebru Marbling ซึ่งเป็นการประยุกต์งานศิลปะดั้งเดิมของชาวตุรกี ที่สร้างลวดลายหินอ่อนบนผ้ามาสร้างลวดลายหินอ่อนบนผิวกระดาษสา เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำด้วยตัวเอง เพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำชุมชนด้านสถานที่ รวมถึงข้อมูลให้กับบุคลากรในพื้นที่ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านผลิตภัณฑ์กระดาษหัตถกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชุมชนกระดาษสาที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเยื่อและกระดาษแบบครบวงจรมากกว่า 50 ปี ทั้งด้านวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบเครื่องทดสอบกระดาษ วิจัย พัฒนา และจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล และ วศ. ได้นำองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตกระดาษไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ วิสาหกิจชุมชน (OTOP) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านเยื่อและกระดาษภายในประเทศ
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชนและภาคมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนากระดาษหัตถกรรมท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดกันมานับหลายร้อยปี สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนระดับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.