เมื่อวันที่ 27 พ.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา KU Digital and AI Platform for Agriculture, Food, Biodiversity and Natural Resources ในโครงการยกระดับขีดความสามารถระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการ ภายใต้พลวัตของเศรษฐกิจ BCG ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ หัวหน้าโครงการฯ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. และบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วม ณ ห้อง Auditorium (306) ชั้น 3 สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีความฉลาดเหนือมนุษย์ กระทรวง อว. ได้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI โดยประกาศนโยบาย อว. for AI ให้เทคโนโลยี AI สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งภาคการผลิตและบริการ รวมถึงในภาคการเกษตรด้วย เทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงวิธีการเกษตรทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยของเราที่ภาคการเกษตรมีความสำคัญมาก การใช้เทคโนโลยี AI ในภาคการเกษตรไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต แต่ยังช่วยป้องกันการสูญเสียที่เกิดจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรมและสภาพภูมิอากาศอย่างละเอียดแม่นยำ ทำให้ภาคการเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังสามารถป้องกันปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ในภาคการเกษตร AI ไม่เพียงแค่เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการคาดการณ์และวางแผน ใช้ในการพยากรณ์และการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคทางเกษตร เช่น การคาดการณ์สภาพอากาศ การเรียนรู้จากข้อมูลประวัติศาสตร์ของผลผลิตและการเจริญเติบโตของพืช เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการจัดการแปลงนาและการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ
“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ด้วยการสนับสนุนโครงการจากหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันงานด้านการเกษตร และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเสริมสร้างการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างประสิทธิภาพ เพื่อเอาชนะความท้าทายที่จะเผชิญในอนาคตได้ ตนในฐานะ รมว.อว.จึงพร้อมผลักดันให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางแพลตฟอร์มดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับความสามารถด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศต่อไป” น.ส.ศุภมาส กล่าว
ด้าน ดร.จงรัก กล่าวว่า โลกในปัจจุบันได้ประสบกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ผลผลิตทางพืช สัตว์ และจุลชีพทางการเกษตรมีผลผลิตที่ตกต่ำลงและขาดความต้านทานต่อโรค การใช้เทคโนโลยีและการวิจัย ในการเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่จากโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตรให้สูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีการเกษตรแบบแม่นยำมากขึ้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการดำเนินงานและการวิจัยแบบสหสาขาวิชาโดยนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ มีเครือข่ายนักวิจัยที่เข้มแข็งและมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการแบบเครือข่ายขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางด้าน AI ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับการบูรณาการของประเทศต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.