วันที่ 29 พฤษภาคม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย "อว. for AI" โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. เข้าร่วม พร้อมมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำของโลกร่วมแสดงผลงาน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย อว. for AI ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นางสาวศุภมาส ได้แถลงนโยบายว่ากระทรวง อว. ได้วิเคราะห์ปัญหาหลักด้าน AI ของประเทศไทย พบว่ามี 2 ปัญหาหลัก คือ การขาดแคลนบุคลากรและการประยุกต์ใช้ AI ยังมีน้อย ซึ่งกระทรวง อว. ได้หาทางแก้ปัญหา และเตรียมความพร้อมในการใช้ AI เพื่อพัฒนาประเทศ โดยสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 - 2570) ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ AI โดยมีเป้าหมายสร้างความเข้าใจและความตระหนักด้านจริยธรรมในการใช้ AI อย่างน้อย 6 แสนคน และมีกฎหมาย/ข้อบังคับด้าน AI ที่จำเป็น 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI เพื่อให้เกิดการลงทุนด้าน AI เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี 3. ด้านกำลังคน AI มีเป้าหมายผลิตกำลังคน AI 3 หมื่นคน 4. ด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม AI ตั้งเป้าสร้าง 100 นวัตกรรม AI ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ 4.8 หมื่นล้าน และ 5. ด้านการส่งเสริมธุรกิจและการใช้ AI โดยมีการใช้นวัตกรรม AI ใน 600 หน่วยงานทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติในภารกิจของกระทรวง อว. จึงให้มีนโยบาย "อว. for AI" โดยใช้ศักยภาพด้าน AI ของกระทรวง อว. ซึ่งจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการสร้างขีดความสามารถของประเทศบนฐานของ AI ต่อไป โดยนโยบาย อว. for AI จะดำเนินงานใน 3 เสาหลัก อันได้แก่
1. AI for Education: การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด โดยปัจจุบันมีทักษะหลาย ๆ ด้านที่คนไทยยังไม่สามารถพัฒนาให้เพียงพอและมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศในอาเชียน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวง อว. จึงมีแนวคิดการนำ AI มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการใช้เครื่องมือด้าน education tools ต่าง ๆ เป็นแนวทางที่จะเพิ่มจำนวนคนในทักษะที่จำเป็นได้ในเวลาอันสั้น นอกจากนี้จะต่อยอดโดยการนำ AI มาทำหน้าที่เหมือนครูหรือโค้ชช่วยเรียนรู้นอกเวลาเรียน ในหัวข้อที่ผู้เรียนสนใจ เน้นการพัฒนาทักษะเสริมตามความต้องการส่วนบุคคลได้อย่างรวดเร็ว โดยมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่น e - learning platform ที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้มีการใช้ AI ตอบสนองความต้องการการเรียนรู้เฉพาะคน และเสริมทักษะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสามารถรองรับนักเรียนกว่า 200 ล้านคน รวมถึงในประเทศไทยมี Thai MOOC (Thailand Massive Open Online Course) แพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์แบบเปิด ที่เพิ่มช่องทางการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานให้กับคนไทย โดยสามารถเรียนออนไลน์ได้ฟรี และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เราสามารถนำ AI ที่สามารถพูด อ่าน เขียน มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Thai MOOC โดย AI จะช่วยทำหน้าที่เหมือน Teacher Tutor หรือ Coach ช่วยเรียนรู้ในการสนทนา ถาม ตอบในเวลาเรียน แบบ interactive ในลักษณะการเรียนเฉพาะบุคคล (personalize) แบบตัวต่อตัวกับผู้เรียนทุกคน หรือ เลือกเรียนกับผู้สอนที่อยากเรียนด้วย เช่น ดารา หรือแม้กระทั่งเรียนกับ รมว.อว. ก็ได้ นอกจากนี้ AI ยังสามารถประเมินความรู้ ความสามารถของผู้เรียนผ่านระบบทดสอบออกแบบหลักสูตรหรือเนื้อหาการเรียนให้เหมาะกับระดับความรู้ ประเมินการเรียนรู้ในระหว่างเรียน ปรับระยะเวลา ความเร็วในการเรียนจนจบหลักสูตร ที่เราไม่ต้องเริ่มต้นที่ Level 1 สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และเรียนพร้อม ๆ กันเป็นแสนคนก็ได้ วิธีการเรียนแบบนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา ทั้งนี้ AI Teacher จะทำให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสเท่ากัน ทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนในคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน เพิ่มโอกาสในการได้งานดี ๆ ค่าตอบแทนสูง ๆ นโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาของกระทรวง อว. ได้ตั้งเป้าหมายให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจและสามารถใช้งาน Al ได้ตั้งแต่ ปี 2 โดยต้องรู้เท่าทัน AI (AI Literacy) มีทักษะความเข้าใจและสามารถนำ AI ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ (AI Competency) รวมทั้งนิสิต นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยจะต้องมีจริยธรรมในการใช้ Al (AI Ethics) โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนการปฏิรูปอุดมศึกษาที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยการปรับปรุงออกแบบ หลักสูตรการเรียนการสอนให้นิสิต นักศึกษาได้เรียน AI ตั้งแต่ ปี 1 เพื่อให้ AI เป็นเครื่องมือ (tool) หรือเป็นปัจจัยที่ 5 ของนิสิต นักศึกษา จบเป็นบัณฑิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน หรืออุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ในมหาวิทยาลัย (AI Infrastructure) กระทรวง อว. จะใช้ AI ในการตอบโจทย์ทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ Lifelong Learning โดยในระยะแรก จะเน้นการสอนภาษาอังกฤษซึ่งจะเป็น flagship ที่สำคัญของกระทรวง อว. ต่อจากนั้นจะขยายผลนำไปใช้กับการเรียนนอกเวลาเรียนสำหรับผู้ที่จบการศึกษาไปแล้ว และต้องการ Reskill Upskill หรือ Newskill"
2. AI workforce development: การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด AI โดยเร็ว ผ่านโครงการพัฒนากำลังคนด้าน AI ในทุกระดับ เช่น โครงการขับเคลื่อนการเข้าใจ AI ในระดับประถม มัธยม และอาชีวศึกษา โครงการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระดับนานาชาติ โครงการพัฒนากำลังคนด้าน AI สำหรับสถาบันการศึกษากลุ่ม AI degree โครงการ Super AI engineer โครงการ AI สำหรับบุคลากรภาครัฐ และ โครงการ Credit Bank โดยตั้งเป้าให้สามารถผลิตกำลังคนได้ใน 3 ระดับคือ ผู้เชี่ยวชาญ AI (AI professional วิศวกร AI ที่เข้าสู่ภาคธุรกิจ (AI engineer) และนัก IT หรือวิชาชีพอื่น ๆ ที่มีทักษะการใช้เครื่องมือ AI (AI beginner) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคนภายใน 3 ปี ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI กว่า 8 หมื่นคน แต่คน AI กว่าครึ่งไม่ได้ทำงานด้าน IT และธุรกิจยังมีความต้องการจ้างคนไปทำวิจัยพัฒนาในสัดส่วนที่สูงที่สุด (ร้อยละ 35)
3. AI innovation: การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจโทย โดยจะสนับสนุนการทำนวัตกรรมด้าน AI อย่างเต็มที่ ซึ่งผลการสำรวจความพร้อมในการใช้ AI ขององค์กร โดยเนคเทค สวทช. และเอ็ตด้า พบว่าหน่วยงานที่อยู่ระหว่างตัดสินใจใช้ AI ยังขาดความมั่นใจและแรงกระตุ้นที่จะลงทุนและใช้งานอยู่มากกว่าครึ่ง โดยมีสาเหตุมาจากประเทศไทยยังมีการใช้งานน้อย ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และงบประมาณ ทำให้ยังไม่เห็นถึงการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน
“Al ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่ AI กำลังมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของเรา กระทรวง อว. เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และพร้อมมุ่งมั่นให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง นโยบาย “อว. for AI” จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการสร้างระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยให้เป็น Education 6.0 ที่เป็นการเรียนรู้แบบ Immersive Education เป็นการศึกษาแบบไร้รอยต่อระหว่าง Offline และ Online โดยนำ Al และ เมตาเวิร์ส มาช่วยในการเรียนการสอน นำมหาวิทยาลัยเข้าสู่การเป็น AI University กระทรวง อว. มีหน่วยงานหลักที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ เนคเทค สวทช. ที่ถือว่าเป็นหัวหอกในการพัฒนา Al ของประเทศ และเป็นหน่วยงานในประเทศไทยที่มี Supercomputer ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนา AI และ สวทช. ยังได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายบริษัท ที่พร้อมจะร่วมมือพัฒนา AI solutions ให้กับหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย และ ภาคเอกชน ด้วยความพร้อมเหล่านี้ กระทรวง อว. จะเป็นศูนย์กลางที่จะสามารถ short cut และเร่งพัฒนา soluion ที่ตอบโจทย์ความต้องการ ให้ออกสู่ตลาดภายใน 1 ปี เพื่อเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" รมว.อว. กล่าว
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
วิดีโอ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.