เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเซลล์และยีนบำบัด (Cell and gene Production Unit; CPU) โดยมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ TCELS รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นพ.ปรินทร์ รัตนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น บริษัทเจเนพูติก ไบโอ จำกัด ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง และ ดร.กิตติพงษ์ เอื้อสุนทราชุน บริษัทเจเนพูติก ไบโอ จำกัด และ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม Four South Board Room ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า หน่วยปฏิบัติการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเซลล์และยีนบำบัด หรือ CPU ของกระทรวง อว. โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นโรงงานมาตรฐานระดับ GMP เพื่อผลิตเซลล์สำหรับใช้ในการบำบัดผู้ป่วยในพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร โดยนำเทคนิคการรักษาผู้ป่วยโดยวิธีเซลล์บำบัด ( CAR T-Cell ) เพื่อให้การรักษากับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ เป็นการดำเนินงานที่มีความสอดคล้องตาม นโยบาย "วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ" ของกระทรวง อว. ที่ต้องการมุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) และเศรษฐกิจชีวภาพ โดยได้ทำทั้งในมิติเพื่อความเป็นเลิศ และมิติเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้ายารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าจากต่างประเทศ และสามารถผลิตยารักษามะเร็งได้เองภายในประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนจาก TCELS ซึ่งมีบริษัทเจเนพูติก ไบโอ จำกัด เป็นผู้ผลิตและพัฒนาการรักษาด้วยเซลล์บำบัดดังกล่าว
.
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การรักษาโรคด้วย CAR T-Cell มีราคาสูงมาก เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ส่วนประกอบในการผลิตจากต่างประเทศ ส่งผลให้โอกาสในการเข้าถึงการรักษาในประชากรไทยมีค่อนข้างน้อย เป็นที่มาให้ บริษัทเจเนพูติก ไบโอ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวง อว. และหน่วยงานเครือข่าย ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตเซลล์บำบัดแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยส่วนประกอบที่ใช้ในกระบวนการรักษาดังกล่าว นำไปสู่ตัวยาที่ถูกผลิตภายในประเทศ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้สูงมาก ทำให้กระบวนการรักษามะเร็ง รวมถึงโรคอื่น ๆ ด้วยวิธี CAR T-Cell ได้เข้าถึงประชาชนไทยอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสรอดในการรักษาของผู้ป่วย พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
.
.
“กระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทยและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป” น.ส.ศุภมาส กล่าว
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.