เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แสดงความยินดีพร้อมมอบโอวาทให้กับคณะเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก REGENERON ISEF 2024 (Regeneron International Science and Engineering Fair) โดยมี นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. รศ.ดร.ธณัฏฐ์ คุณมงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคม วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ คณะผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี
นางสาวศุภมาส ได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของตัวแทนทีมเยาวชนไทย ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.เชียงราย และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จ.เชียงใหม่ พร้อมชื่นชมเยาวชนที่นำความรู้ความสามารถไปแสดงบนเวทีระดับโลกและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศไทย ซึ่งผลงานของทีมเยาวชนไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของเยาวชนและทุกหน่วยงานที่สนับสนุนเหล่าเยาวชนไปสู่เวทีแข่งขันระดับโลกในครั้งนี้ เพราะเยาวชนไทยสามารถพัฒนาผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ออกมาได้โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยสำเร็จ ด้วยการคว้า 13 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วยรางวัล Grand Awards จำนวน 9 รางวัลใหญ่ และรางวัล Special Awards จำนวน 4 รางวัล ในหลากหลายสาขา อาทิ สาขาสัตวศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ สาขาพฤกษศาสตร์ สาขาหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต และสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดยตนขอให้เยาวชนทุกคนนำความสำเร็จครั้งนี้ไว้เป็นแรงผลักดันเพื่อต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต”
การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก REGENERON ISEF 2024 (Regeneron International Science and Engineering Fair) ถูกจัดขึ้นโดย Society for Science ณ เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก อว. โดย อพวช. และ สวทช. ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งทีมเยาวชนไทย จำนวน 15 ทีม เข้าร่วมแข่งขันกับตัวแทนเยาวชนกว่า 75 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 พ.ค. 2567
ผลการแข่งขันปรากฎว่าทีมเยาวชนไทยสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยด้วยการคว้า 13 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วยรางวัล Grand Awards จำนวน 9 รางวัลใหญ่ และรางวัล Special Awards จำนวน 4 รางวัล รวมได้รับรางวัลมูลค่ากว่า 18,300 ดอลลาร์สหรัฐ
โดยรางวัล Grand Award อันดับที่ 2 พร้อมเงินรางวัล 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 3 รางวัล
1. ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จากโครงงาน Bee’s spa: นวัตกรรมแอ่งโคลนเทียมสำหรับให้แร่ธาตุในการเพาะเลี้ยงผึ้งพันธุ์ Apis mellifera บนพื้นที่สูงเพื่อลดการตายในฤดูแล้ง โดยมี นายวิษณุชัย หัตถกอง นายรัตนโกสินทร์ ภิราษร และนายธนภัทร สมญาพรเจริญชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา
2. ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) จากโครงงานการศึกษาผลของมุมยอดของรูปทรงสามเหลี่ยม ที่มีผลต่อการไหลแบบ acoustic streaming โดยมี นายกรกฤต ต้นพงษ์พันธุ์ และ นายเวโรจน์ บุญราช เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา
3. ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลในสาขาพฤกษศาสตร์ (Plant Sciences) กับโครงงานวิธีการเพาะไข่น้ำแนวใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตโปรตีนสำหรับพัฒนาเป็นอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน โดยมี นายสัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์ และนายธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ ครูที่ปรึกษา
รางวัล Grand Award อันดับที่ 3 พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่
1. ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จากโครงงานการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการผลิตไบโอดีเซลจากการย่อยสลายและการเปลี่ยนขยะทางการเกษตรโดยหนอนแมลงวันลาย โดยมี นายณภูดล ศรีรัตนา และนายปพนพัชร์ วิรุฬห์ไววุฒิ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางสาววนิดา ภู่เอี่ยม เป็นครูที่ปรึกษา พร้อมกันนี้ยังสามารถคว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ในสาขา Life Sciences ที่เป็นองค์กรสนับสนุนความก้าวหน้าของงานวิจัยและการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ได้รับเงินรางวัล 800 ดอลลาร์สหรัฐ มาครองด้วย
2. ร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี ในสาขาหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & Intelligent Machines) จากโครงงานระบบวิเคราะห์คุณภาพลูกกุ้งความแม่นยำสูงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม โดยมี นายปฏิพนธ์ ติยะปัญจนิตย์ และนายทินภัทร เสียมไหม เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นครูที่ปรึกษา พร้อมกันนี้ยังสามารถคว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 1 จากหน่วยงาน Association for Computing Machinery (ACM) ได้รับเงินรางวัล 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาครองอีก 1 รางวัล
3. ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต (Translational Medical Science) จากโครงงาน EiPCA: อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาแบบ 12 ลีด โดยมี นายคุณาสิน สุขศรี นายพีรพัฒน์ วัฒนกิจ และนางสาวพัชรดา เทวาดิเทพ ผู้จัดทำโครงงาน และดร.ขัติยา ปิยะรังษี เป็นครูที่ปรึกษา
นอกจากนี้ ทีมเยาวชนจากประเทศไทยยังได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 4 พร้อมเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐ อีก 3 รางวัล ได้แก่
1. ร.ร.ห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จากโครงงานนวัตกรรมกิ่งไม้เทียมสำหรับเลี้ยงแมลงครั่งเพื่อเพิ่มผลผลิตครั่งอย่างยั่งยืน โดยมีนายวรฤทธิ์ สุยาละ และนางสาววิภารัตน์ รวยทรัพย์โภคิน เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายกีรติ ทะเย็น เป็นครูที่ปรึกษา
2. ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) จากโครงงานการเปรียบเทียบคลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นจากระบบหลุมดำคู่กับคลื่นแบบหมุนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของก้อนมวลบนผืนผ้าสแปนเด็กซ์ โดยมีนายคณิศร สว่างไสว และนายภูดิศ ธนกุลไกรฤทธิ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา
3. ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Envionmental Engineering) กับโครงงานเอนไซม์ขนาดเล็กเพื่อการย่อยสลายพลาสติกพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) โดยมีนางสาววิรัลพัชร จิรัฐิติเจริญ นางสาวปวรวรรณ ไชยวงศ์ และนางสาวอภิปรียา ปวบุญสิริวงศ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางสาวอาจรีย์ ธิราช ร.ร.กำเนิดวิทย์ และดร.ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ สถาบันวิทยสิริเมธี จ.ระยอง เป็นที่ปรึกษา
ขณะเดียวกันทีมเยาวชนไทยยังสามารถคว้ารางวัล Special Awards ได้อีก 2 รางวัล ได้แก่
1. ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัล Special Awards อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน : U.S. Agency for International Development (USAID) ได้รับเงินรางวัล 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯกับโครงงานการพัฒนาแผ่นอนามัยออร์แกนิกจากเส้นใยพืชเคลือบสารสกัดมะขามป้อม โดยมีนางสาวสิริอาภา ปันทุราภรณ์ และนางสาวสิริปภา ปันทุราภรณ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางจันทร์จิรา ชัยอินทรีอาจ เป็นที่ปรึกษา
2. ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับ Special Award รางวัลชมเชย จากหน่วยงาน Association for the Advancement of Artificial Intelligence กับโครงงานโครงการแพลตฟอร์มช่วยตรวจหาโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้นด้วยตาโดยเอไอ โดยมีนายเลนนี โธมัส นางสาวธัญญาดา ทองใบ นายติณณ์ โพธิกานนท์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางรุ่งกานต์ วังบุญ เป็นครูที่ปรึกษา
ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายปวีณ ควรแย้ม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.