เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้คณะทีมเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2024 และสามารถคว้ารางวัลสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้สำเร็จเข้าพบเพื่อร่วมแสดงความยินดีและมอบโอวาทให้แก่เยาวชน โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. ศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ น.ส.อารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมด้วย
น.ส.ศุภมาส ได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของตัวแทนทีมเยาวชนไทย ได้แก่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ร.ร. วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ร.ร.ห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.เชียงราย และ ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จ.เชียงใหม่ พร้อมชื่นชมเยาวชนที่นำความรู้ความสามารถไปแสดงบนเวทีระดับโลกและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศไทย ซึ่งผลงานของทีมเยาวชนไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของเยาวชนและทุกหน่วยงานที่สนับสนุนเหล่าเยาวชนไปสู่เวทีแข่งขันระดับโลกในครั้งนี้ เพราะเยาวชนไทยสามารถพัฒนาผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ออกมาได้โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยสำเร็จ ด้วยการคว้า 13 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วยรางวัล Grand Awards จำนวน 9 รางวัลใหญ่ และรางวัล Special Awards จำนวน 4 รางวัล ในหลากหลายสาขา อาทิ สาขาสัตวศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ สาขาพฤกษศาสตร์ สาขาหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต และสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดยตนขอให้เยาวชนทุกคนนำความสำเร็จครั้งนี้ไว้เป็นแรงผลักดันเพื่อต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ด้าน ตัวแทนทีมเยาวชน นายกรกฤต ต้นพงษ์พันธุ์ จาก ร.ร.กำเนิดวิทย์ ที่ได้รับรางวัลได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 2 ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ เจ้าของโครงงานการศึกษาผลของมุมยอดของรูปทรงสามเหลี่ยม ที่มีผลต่อการไหลแบบ Acoustic streaming กล่าวว่า ดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณ กระทรวง อว. สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และ อพวช.ที่ช่วยผลักดันและเตรียมความพร้อมในการแข่งขันให้พวกเราจนสามารถคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ ซึ่งโครงงานนี้พวกเราศึกษาผลของมุมยอดรูปทรงของสามเหลี่ยมที่มีมุมยอดขนาดแตกต่างกันว่าจะมีผลต่อการไหลของน้ำอย่างไร โดยเราใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์และการทดลองในห้องปฏิบัติการ และพบว่าจากการทดลองทั้ง 2 แบบเมื่อสามเหลี่ยมมีมุมยอดน้อยจะสั่นและทำให้เกิดการไหลของน้ำในทิศทางที่พุ่งออกจากสามเหลี่ยม ส่วนสามเหลี่ยมที่มุมใหญ่มาก ๆ จะทำให้น้ำไหลกลับมาที่สามเหลี่ยมแทน ซึ่งสิ่งนี้สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการอธิบายปรากฏการณ์ของฟิสิกส์ต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยมีนักวิจัยทำมาก่อน โดยโครงงานฯ นี้ ในอนาคตจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการควบคุม Microrobots ในเลือดและร่างกายของคนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน น.ส.สิริปภา ปันทุราภรณ์ และน.ส.สิริอาภา ปันทุราภรณ์ ทีมเยาวชนจาก ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ที่ได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน : U.S. Agency for International Development กับโครงงานการพัฒนาแผ่นอนามัยออร์แกนิกจากเส้นใยพืชเคลือบสารสกัดมะขามป้อม กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนประเทศซึ่งพวกเราตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ที่สำคัญเราได้นำเสนอเรื่องปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงในด้านการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิงที่ทุกคนพึงมีและการใช้ผ้าอนามัยที่ต้องมีคุณภาพ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญแห่งความภาคภูมิใจที่เราได้พูดเรื่องนี้บนเวทีระดับโลก โดยการพัฒนาแผ่นอนามัยออร์แกนิกที่ทำจากเส้นใยพืชเคลือบสารสกัดหยาบจากมะขามป้อมครั้งนี้ จะส่งสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนตามเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ สุดท้ายอยากขอบคุณคุณครูที่ปรึกษาที่คอยเป็นแรงสนับสนุนที่ดีในทุกด้าน และขอบคุณทางโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 (YSC 2024) โดย สวทช. และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนพวกเราไปคว้าชัยในครั้งนี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.