วันที่ 11 มิถุนายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาการเรียนการสอนทางเคมีให้มีความสอดคล้องและเท่าทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ กระทรวง อว. มีนโยบาย " วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ " มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งจะต้องพึ่งพาข้อมูล ความรู้และวิทยาการอย่างมาก ตนจึงให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมมือกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ 27th IUPAC International Conference on Chemistry Education (ICCE 2024) ภายใต้หัวข้อ “Power of Chemistry Education for Advancing SDGs” ระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี การประชุมดังกล่าวมุ่งเน้นการระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการเรียนการสอนเคมีระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainable Development Goals (SDGs), นักการศึกษา, นักวิทยาศาสตร์ นักเคมี นักศึกษา เยาวชน รวมถึงครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และนักเรียนจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กว่า 500 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อปลูกฝังให้บุคลาการด้านการศึกษารุ่นใหม่คำนึงถึงการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาการศึกษาทางเคมีและวิทยาศาสตร์ เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทย์ ฯ บริการ มีภารกิจหลักในการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานให้มีสมรรถนะสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีความเชี่ยวชาญ หลังจบการศึกษา ได้เปิดหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์เคมีปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะเวลาถึง 87 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา
อธิบดี นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ต่าง ๆ บนโลกในปัจจุบันมีความผันผวนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ความเหลือมล้ำของการเข้าถึงโอกาสทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการศึกษา ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อรับมือให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษา เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องเร่งหันกลับมาให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความสำคัญของการศึกษาด้านวิทยาศาสต์เคมี (Chemistry Education) กรมวิทย์ ฯ บริการ จึงได้ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายในการจัดงานประชุมวิชาการระดับโลกดังกล่าว โดยเล็งเห็นว่า งานประชุม ฯ เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาและวิทยาศาสตร์ในอนาคตของประเทศไทยและทั่วโลก
งานประชุมวิชาการ ICCE 2024 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ได้รับเกียรติจากนักวิชาการด้านการศึกษาที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาเป็นวิทยากรถึง 4 ท่าน ได้แก่ Prof. Peter G Mahaffy จากประเทศแคนาดา Prof. J Catherine Ngila จากประเทศเคนยา Dr. Peter Hotchkiss จากองค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) ผู้ได้รับรางวัล Nobel Prize for Peace 2023 และ Dr. Krissanapong Kirtikara จากประเทศไทย หัวข้อหลักของการประชุม ฯในครั้งนี้ คือ "พลังการศึกษาด้านเคมีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Power of Chemistry Education for Advancing SDGs)"
นอกจากนี้ยังมีการจัด สัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อย่อยต่าง ๆ ที่สำคัญและเป็นน่าสนใจในปัจจุบัน กรมวิทย์ ฯ บริการ ขอเชิญชวนนักวิชาการ อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ ICCE2024 ในวันที่ 15-19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นี้ ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมได้ที่เว็บไซต์ www.icce2024thailand.com
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.