21 มิถุนายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อภิปรายแถลงนโยบายต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า งบประมาณของกระทรวงอว. ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 153,565. 2580 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นด้านอุดมศึกษา 112,358.8097 ล้านบาท คิดเป็น 73.17% และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 41,206.4483 ล้านบาท คิดเป็น 26.83% ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทางกระทรวง อว. ย้ำถึงพันธกิจในการพัฒนากำลังคนในระดับอุดมศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาประเทศ
รมว.อว. กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ให้เข้ามาบริหาร ได้มีนโยบาย 2 มิติ ได้แก่ มิติอุดมศึกษา “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” เพื่อให้นักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกสามารถเข้าเรียนได้ทุกคน มีมาตรการ Free TCAS เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องเสียค่าสมัครสอบ ทำให้รอบการสอบที่ผ่านมามีผู้สมัครสอบเพิ่มมากขึ้น โดยมีนักเรียนเลือกครบ 10 อันดับ เพิ่มขึ้นกว่า 35,000 คน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้แบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยเน้นให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ที่คนวัยทำงานสามารถกลับมา Upskill Reskill ในทักษะใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง นโยบายผลักดันให้หลักสูตรการฝึกประสบการณ์ทำงานในระหว่างเรียน (Experiential Learning) เช่น โครงการสหกิจศึกษา โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อให้นักศึกษาพร้อมที่จะทำงานหลังจบการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปี หลักสูตรที่ผลิตคนเพื่อไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ต้องเป็นรูปแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Experiential Learning) ทุกหลักสูตร
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า มิติด้านการวิจัยและนวัตกรรม มีนโยบาย “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ผ่านกลไกกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อาทิเช่น อุตสาหกรรมดิจิทัลก็มีการส่งเสริมการวิจัยในเรื่อง AI, Cloud, Blockchain, คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์และการออกแบบชิป, อุตสาหกรรม EV และแบตเตอร์รี่, อุตสาหกรรมอาหารในเรื่องของอาหารแห่งอนาคต (Future Food), สารประกอบในอาหารที่มีผลต่อสุขภาพนอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการขั้นพื้นฐาน (Functional Ingredients) และอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) เป็นต้น
รมว.ศุภมาส กล่าวถึงเรื่องการเร่งกระตุ้นให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เป็นร้อยละ 2 ของ GDP ว่า ในขณะนี้ทางกระทรวง อว. ไม่ได้รองบประมาณจากรัฐเท่านั้น แต่ได้พยายามที่จะทำงานกับเอกชน และกองทุนอื่นๆ เช่น มูลนิธิกสิกรไทย เพื่อพัฒนาสมุนไพร ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน ด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยคาร์บอน และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ BOI ในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น EV เซมิคอนดักเตอร์ และดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ที่ให้ประเทศไทยเป็นฮับ(Hub) ของ 8 อุตสาหกรรม ทุกอุตสาหกรรมต้องการกำลังคนทักษะสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทคที่ความพร้อมของแรงงานทักษะสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุน โดยมี Flagships ให้กระทรวง อว. เน้นงานที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศเช่น นโยบาย อว. For เซมิคอนดักเตอร์ อว. For EV อว. For AI เป็นต้น โดยมีแผนพัฒนาคนทักษะสูงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในด้านเซมิคอนดักเตอร์ 80,000 คน EV 150,000 คน AI 50,000 คน ใน 5 ปี
“กระทรวง อว.ได้มีการดำเนินการโครงการต่างๆ แล้ว และยังมีแผนในการพัฒนากำลังคน เพื่อพัฒนาคนในด้านอื่นๆ ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมใหม่ 8 ด้าน ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของท่านนายกรัฐมนตรี กระทรวง อว. จะใช้งบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ แห่งนี้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด” นางสาวศุภมาส กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.