เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบนโยบายและหารือประเด็นเชิงนโยบายด้านการอุดมศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในการประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 4/2567 เพื่อให้กระทรวง อว. และ กกอ. ทำงานเชื่อมโยงและประสานกัน รวมทั้งสามารถนำสถาบันอุดมศึกษาไทยผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 อาคารอุดมศึกษา 1 สป.อว.
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ตนต้องการให้อุดมศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคนไทย ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยได้กำหนดนโยบายปฏิรูปอุดมศึกษา 4 เป้าหมายสำคัญ โดยเป้าหมายแรกคือ “การลดภาระ” โดยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของผู้ปกครอง ซึ่งมหาวิทยาลัยควรที่จะทำให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน รวมทั้งลดเวลาเรียนในมหาวิทยาลัยลงให้น้อยกว่า 4 ปี แต่ยังคงผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป้าหมายที่สองคือ “ลดความเหลื่อมล้ำ” มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้คนไทย ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเป็นผู้เรียนในระบบอุดมศึกษาได้ตลอดเวลา เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning Nation) โดยเฉพาะระดับผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ โดยแนวทางในการปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่กระทรวง อว. ได้ดำเนินการไปแล้วก็คือ Free TCAS ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สมัคร TCAS ฟรี เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้มากยิ่งขึ้น และแนวทางที่กระทรวง อว. จะได้ดำเนินการไปพร้อมกันก็คือ การสร้างแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ (Online learning platform) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น AI University
นางสาวศุภมาส กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่สามคือ “เพิ่มทักษะ” โดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) และพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill) หรือการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (New skill) ไปสู่งานใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีค่าตอบแทนสูงขึ้นด้วย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งกระทรวง อว. ได้ส่งเสริมให้มีหลักสูตรด้านผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Education) เพื่อให้นักศึกษาได้เป็นผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) อีกทั้งยังจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทักษะของลูกจ้างว่าสอดคล้องกับความต้องการของผู้จ้างหรือไม่ หากทักษะยังไม่สอดคล้อง ก็จะมีระบบ AI แนะนำแนวทางการเรียนและเป็นผู้ฝึกสอนให้กับผู้เรียนได้ และเป้าหมายที่สี่คือ “เพิ่มโอกาส” โดยแนวทางที่กระทรวงฯ จะดำเนินการ เช่น การทำงานร่วมกับภาคเอกชนและผู้ใช้บัณฑิต (Experiential Learning Education) เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสอนในมหาวิทยาลัย โดยอาจจะเป็นการสอนร่วมกันระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในลักษณะการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อทำให้คุ้นเคยกับการทำงาน และสามารถเข้าทำงานได้ทันทีระหว่างเรียนและเมื่อเรียนจบ
“นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำหลักสูตรทั้งแบบ degree และ non-degree ที่ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยใช้กลไกการรวบรวมและแสดงทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละตำแหน่งงานในปัจจุบัน (Skill mapping) และการจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ (Sandbox) เพื่อให้ผลิตกำลังคนได้อย่างรวดเร็วและทำงานได้จริง เช่น หลักสูตรผลิตกำลังคนทางด้าน อีวี (EV) เซมิคอนดักเตอร์ (Somiconductor) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart electronics) และซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศในขณะนี้” นางสาวศุภมาส กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.