เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมงานแถลงข่าวโครงการ “School Satellite Competition 2024 ปี 2” ภายใต้แนวคิด “การติดตามสิ่งแวดล้อมทั่วโลกด้วย Cubesat (Global Environmental Survellance)” จัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. (GISTDA) โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รองผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ปราณปริยา วงค์ษา ผู้อํานวยการสํานักเครือข่ายองค์ความรู้ ดร.ฐนิตา เสือป่า ผู้อํานวยการสํานักสร้างเสริมพันธมิตร เข้าร่วม ณ บูธ Space GISTDA โซน F ภายในงาน อว.แฟร์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า โครงการ “School Satellite Competition 2024 ปีที่ 2” เป็นโครงการที่ดำเนินตามนโยบายของกระทรวงในการพัฒนากำลังคน เพื่อผลักดันเยาวชนของชาติให้ตระหนักรู้และสนใจในเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจอวกาศ รวมถึงส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ได้มาร่วมโครงการนี้ จะได้รับโอกาสการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โครงการนี้จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างบุคลากรคุณภาพให้มีความพร้อมเพื่อผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศให้ก้าวสู่ระดับสากลต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ระบบนิเวศอวกาศ โครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศควบคู่กันไป สิ่งทาง GISTDA ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือเยาวชนของชาติ ต่อไปในอนาคตข้างหน้าคนกลุ่มนี้จะกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติให้มีความเท่าเทียมกันในระดับสากล ซึ่งโครงการ “School Satellite Competition 2024 ปีที่ 2” จะเป็นการเน้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้ลงมือออกแบบและสร้างดาวเทียมด้วยตนเองเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจได้ศึกษาเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ เข้าใจกระบวนการพัฒนาดาวเทียมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ จนกระทั่งการสร้างและทดสอบดาวเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจจริง นอกจากจะได้พัฒนาความรู้ทางทฤษฎีแล้วยังได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงานจริง รวมถึงทดสอบดาวเทียมจริงๆ ภายในศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติกับพี่ ๆ วิศวกรไทยที่สร้างดาวเทียม THEOS-2A อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
“สำหรับรูปแบบการแข่งขันในปีนี้มีชื่อว่า “Global Environmental Surveillance” เป็นการติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เป็นภารกิจการสังเกตการณ์ วิเคราะห์ ติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือประเมินสถานะของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศสิ่งแวดล้อมทั่วโลกด้วยดาวเทียม Cubesat เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มความสามารถในการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โจทย์ในครั้งนี้ต้องการเห็นไอเดียของเยาวชนไทยสำหรับการประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ การสร้างดาวเทียม Cubesat จะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก สามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการขยายโอกาสให้เยาวชนไทยได้สร้างสรรค์ผลงานและประสบการณ์ที่โดดเด่นเพื่อเป็นแนวทางสู่สายอาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศในอนาคตต่อไป” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.