เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชุมสร้างการรับรู้ และเป็นสักขีพยานความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศษ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานและสักขีพยาน พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ มีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวง มท. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวง ศธ. และนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. และนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวรายงาน พร้อมมีด้วยผู้บริหารจากทั้ง 3 กระทรวง รวมทั้งข้าราชการ พนักงานและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ ลานกิจกรรมกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” ระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการเห็นพ้องร่วมกันว่าปัญหายาเสพติดเป็นภัยอันตราย ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ที่บั่นทอนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญจะต้องใช้มาตรการป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน มิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการลดจำนวนผู้เสพ (ผู้ติดยาเสพติด/Demand) โดยเฉพาะผู้เสพหน้าใหม่ (New Face) ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในระบบการศึกษา จะต้องอาศัยความร่วมมือกับสถานศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ เพื่อป้องกันนักเรียน นักศึกษา เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนั้น ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่าในรูปแบบใด จึงได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ขึ้นโดยมีเจตจำนงร่วมมือกันดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกระทรวง อว. ได้ดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการสร้างภูมิคุ้มกัน และการป้องกันการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกมิติ
2.สร้างความตระหนักต่อโทษภัยของยาเสพติด และการปฏิเสธการใช้ยาเสพติดให้แก่บุคลากร รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อครอบครัว และหน้าที่การทำงานเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกมิติ
3.สร้างการมีส่วนร่วม และยินยอมเข้าร่วมกิจกรรมการป้องกันยาเสพติดในทุกรูปแบบของบุคลากรด้วยความสมัครใจ โดยปราศจากการบังคับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองและครอบครัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรืออบายมุขต่าง ๆ อันจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานหรือบุคคลในองค์กรว่า เป็นบุคคลที่ประพฤติตัว ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี รวมถึงรักษาภาภาพลักษณ์ของหน่วยงานของรัฐ เป็นองค์กรสีขาวปลอดยาเสพติด
4.ผลักดันให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดให้มีระบบการเฝ้าระวัง สอดส่อง สังเกต ตรวจตราการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกรูปแบบ รวมถึงหากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องจัดให้มีระบบการคัดกรอง และประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสียงทางสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิตและบำบัด ฟื้นฟูตามความเหมาะสม โดยร่วมกับสหวิชาชีพและผู้ปกครอง เพื่อวางแผนการบำบัดฟื้นฟู โดยข้อมูลการบำบัดฟื้นฟูของ นิสิต/นักศึกษาจะต้องเป็นความลับ และห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการเปิดเผยต่อบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กและครอบครัวเป็นสำคัญ
5.สนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้บริเวณรอบสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด และอบายมุขอย่างเป็นรูปธปรรม หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายกับบุคคล หรือสถานประกอบการที่เป็นแหล่งอบายมุข ให้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
6.สนับสนุนองค์ความรู้และข้อแนะนำทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการตามความเหมาะสม
7.อำนวยการและสนับสนุนให้บุคลากรร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเฝ้าระวังและป้องกันยาเสพติดในระดับพื้นพื้นที่ รวมถึงพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ (Social media)
ในการนี้ นอกจากข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทุกกระทรวงจะร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบทุกรูปแบบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.