เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุ ชิ้นส่วนด้านอากาศยานและอวกาศ เพื่อเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ โดยการเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่โลกอนาคต ระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) และ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมลงนาม ณ ห้อง Ballroom ชั้น 12 โรงแรม วี กรุงเทพฯ - เอ็มแกลเลอรี่
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง อว. ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม และระบบการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางภูมิปัญญาให้กับบุคลากรของประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ทอัพ SMEs ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ดิฉันเชื่อมั่นว่า กระทรวง อว. โดยจิสด้า พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วน มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะผลักดันให้ไทยมีอุตสาหกรรมอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม
“นี่คือการร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ของจิสด้าและดีพร้อม เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ให้ก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า” รมว.อว. กล่าว
ด้าน นายภาสกร กล่าวว่า ดีพร้อม ขานรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนโยบาย "โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตโดยการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก พร้อมยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทศสอบวัสดุและชิ้นส่วน ด้านอากาศยานและอวกาศ สนับสนุนการเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า จิสด้ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การลงนามครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จิสด้าจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน จิสด้าได้ตระหนักถึงความสำคัญและแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขพบว่าทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 8:1 มูลค่าสูงราว 415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการศึกษาวิเคราะห์ พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยออดจากการใช้ข้อมูลและเทคโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงสะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต ดังนั้น จิสด้าจึงได้เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่จะสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.