เมื่อวันที่ 2 ก.ย. รศ.สรนิต ศิลธรรม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตรวจเยี่ยมการดําเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. และรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมค ในโอกาสครบรอบ 1 ปี พร้อมมอบนโยบาย รมว.อว. ในโอกาสนี้ นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เข้าร่วม โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อํานวยการ สทน. พร้อมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ อาคารปฏิบัติการโทคาแมค สทน. สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
รศ.สรนิต กล่าวว่า ขอชื่นชมคณะผู้บริหาร นักวิจัย วิศวกร และเจ้าหน้าที่ สทน. ทุกท่านที่ร่วมกันทำงานจนสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์และนําเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีเพื่อส่งเสริม SME และอุตสาหกรรมในแขนงต่าง ๆ และ upscale จาก lab scale สู่ commercial scale อีกทั้งยังเข้าถึงและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้มากขึ้น และเร่งยกระดับขีดความสามารถทางด้านวิศวกรรม เนื่องจาก สทน. มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากมายที่ต้องอาศัยวิศวกรรม ประเทศไทยจึงควรเร่งพัฒนางานในด้านดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยและกําลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเปลี่ยนบทบาท “จากผู้ซื้อเป็นผู้สร้าง” เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้นําเข้าเทคโนโลยี เพื่อเตรียมมุ่งไปสู่การมีโรงไฟฟ้าฟิวชันในอนาคต
“ในฐานะที่ สทน. ทำงานวิจัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีในด้านอาหารและการเกษตร จึงควรนําผลงานวิจัยและงานบริการมาช่วยสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทย เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมเรื่องความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ สทน. ต้องมีนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ในปี 2050 เพื่อให้ไทยเป็นประเทศ Net zero และ carbon neutrality ได้โดยสมบูรณ์”รศ.สรนิต กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า เครื่องโทคาแมค Thailand Tokamak-1 หรือเครื่อง TT-1 เป็นโครงการในพระราชดําริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย และเป็นเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต หลังจากพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 โดยสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการโทคาแมคและได้ทรงกดปุ่มเดินเครื่องครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์แล้วนั้น ระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ทาง สทน. ร่วมกับเครือข่ายได้เดินเครื่องโทคาแมค TT-1 ด้วยตัวเอง ในรอบ 1 ปี สามารถเดินเครื่องไปทั้งหมด 1,285 ครั้ง โดยมีผลการเดินเครื่องที่ดีที่สุด (Best Record) โดยสรุปดังนี้ 1) กระแสพลาสมา สามารถเดินเครื่องได้กระแสพลาสมาสูงสุดคือ 85.4 กิโลแอมแปร์ (สูงขึ้น 17% ของ ค่าปฐมฤกษ์) 2) อุณหภูมิพลาสมา สามารถเดินเครื่องได้อุณหภูมิสูงสุดคือ 545,000 องศาเซลเซียส (สูงขึ้น 45% ของ ค่าปฐมฤกษ์) 3) ระยะเวลาที่สามารถควบคุมพลาสมา สามารถทําได้สูงสุด 122.94 มิลลิวินาที (นานขึ้น 40% ของค่า ปฐมฤกษ์) และ 4) ประสิทธิภาพของฟิวชัน (fusion triple product) เพิ่มขึ้นประมาณ 44 เท่า ของค่าปฐมฤกษ์
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยในประเทศ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 25 หน่วยงาน จัดตั้งเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน หรือ Centor for Plasma and Nuclear Fusion Technology (CPaF) เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เพื่อรองรับเทคโนโลยีฟิวชันและร่วมกันพัฒนาห้องปฏิบัติการขั้นสูงด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน
รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมามีการพัฒนาทางวิศวกรรมที่สำคัญ ซึ่งทีมนักวิจัยของ สทน. และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบวัดพลาสมาที่เรียกว่า "Langmuir Probe" หรือ LP ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาพฤติกรรมของพลาสมาที่บริเวณขอบ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพลาสมาหลักกับผนัง โดยการพัฒนา LP โดยทีมนักวิจัยไทย นี้ไม่เพียงช่วยประหยัดงบประมาณ แต่ยังสร้างองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานฟิวชันของประเทศ การพัฒนา LP สำหรับเครื่องโทคาแมค TT-1 นี้ เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงโดยฝีมือคนไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง สทน. และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย CPaF แสดงให้เห็นถึงพลังของการทำงานร่วมกัน นําไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดและยั่งยืนสำหรับประเทศไทยในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.