วันที่ 18 ก.ย. 67 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน Top Executive Meeting : Innovation Thailand Alliance x Global เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมระหว่างผู้บริหารระดับสูง (Top Executive) จากหน่วยงานชั้นนำทุกภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทย ผ่านการสร้างความรู้จักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนวัตกรรมระหว่างกัน ผ่านหัวข้อ “EV-Innovation towards Innovation Nation” พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อว. For Ev: EV-HRD, EV-Transformation, EV-Innovation” โดยมี ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กล่าวรายงาน และมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานชั้นนำในระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมต่าง ๆ เข้าร่วม ณ ห้อง The Lawn ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท เกษรทาวเวอร์
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญในการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ โดยคาดหวังให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก จึงได้ประกาศนโยบาย “อว. for EV” เพื่อเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ นำไทยสู่ EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1) EV-HRD: การพัฒนาทักษะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ด้านการออกแบบ พัฒนาซอฟแวร์ การผลิตและซ่อมบำรุง สถานีบรรจุไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายในการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม EV 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดย อว. จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางด้าน EV ร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะตรงความต้องการของอุตสาหกรรม โดยเน้นการปฏิบัติจริงร่วมกับเทคโนโลยีล่าสุดรวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา 2) EV-Transformation: การเปลี่ยนจากใช้รถยนต์ระบบสันดาปภายใน (ICE) มาเป็นยานยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกระทรวง รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานในสังกัด อว. เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ของยานยนต์ที่ใช้งานของหน่วยงานภายในระยะเวลา 5 ปี และจัดทำระบบต้นแบบการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของกระทรวง อว. เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของ Green campus ขณะเดียวกัน เราก็ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ และ 3) EV-Innovation: สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม EV ในประเทศ และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม EV โดยปรับปรุงแผนด้าน ววน. ให้มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยมี สกสว. บพข. และ NIA มาร่วมดำเนินงานในส่วนนี้
นางสาวศุภมาส กล่าวต่อว่า NIA ได้ให้การสนับสนุนทุนโครงการ MANDATORY INNOVATION ธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้ 5 กลไกการสนับสนุน ได้แก่ 1) Thematic Innovation กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า 2) Zero Loan Interest กลไกนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย 3) Matching Interest for Working Capital กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 4) MIND กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม และ 5) Standard Testing กลไกการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจนวัตกรรม โดยในปีนี้ NIA ได้ให้การสนับสนุนไปแล้ว 20 โครงการ งบประมาณ 46.5 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าโครงการกว่า 91.7 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์ จากโครงการเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดการขยายผลทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายนวัตกรรมยานยนต์ให้เกิดขึ้นมากมาย พร้อมนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง
“ดิฉันเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกประกอบกับพลังความร่วมมือของทุกท่านในวันนี้ จะสามารถร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรม EV ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรมได้อย่างแน่นอน” รมว.อว. กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.