เมื่อวันที่ 25 ก.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานตามแนวทางและดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว.โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว.ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะผู้บริหาร และคณาจารย์จากโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ เข้าร่วม ที่ห้องประชุม Chatrium Ballroom 1 โรงแรม Chatrium Grand Bangkok กรุงเทพฯ
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวง อว.กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับผลการประเมิน PISA ของประเทศไทย โดยตนขอมอบนโยบายสำคัญ 3 เรื่องในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียน คือ 1.การพัฒนาทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร และ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาช่วย ตลอดจนพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ที่ทันสมัย และ 3.สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน และภาคเอกชน
“ถึงแม้ว่าการพัฒนาสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทาง PISA จะเป็นภารกิจที่ท้าทาย แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากลได้อย่างแน่นอน” รมว.อว. กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว.รับผิดชอบเรื่องการเตรียมยกระดับผลการประเมิน PISA 2 เรื่องคือ 1.เรามีโรงเรียนสาธิตซึ่งจะต้องมีการสอบ PISA 2.กระทรวง อว. ดูแลคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ผลิตครูที่จะไปพัฒนาเด็ก เราต้องทำ 2 เรื่องนี้ คือ การทำความเข้าใจกับครูในการที่จะพัฒนาและเตรียมพร้อมเด็กที่จะสอบในปี 2568 และวิธีการที่จะพัฒนาเด็กเหล่านี้จะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็มีหลายแบบ ทั้งเรื่องการเรียน ซึ่งต้องมีการปรับกระบวนการเรียนเพื่อที่จะให้สอดรับการประเมิน PISA ได้ด้วย เรื่องของการทดลองทำข้อสอบ รวมถึงกระบวนการที่จะต้องพัฒนาวิธีคิดของเด็ก เพื่อให้สามารถนำไปสู่การทำข้อสอบที่ตอบโจทย์ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ต้องทำที่โรงเรียนอย่างเดียว แต่ต้องทำร่วมกับครอบครัว ทำร่วมกับครูรวมถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งดูแลคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์
“จริงๆ เด็กไทยและโรงเรียนต่างๆ มีศักยภาพ เพียงแต่เราต้องทำให้ถูกจุด มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะพัฒนา ตามสถิติที่ผ่านมา นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนสาธิตจะมีคะแนนสอบเฉลี่ยสูงกว่าโรงเรียนในกลุ่มอื่นๆ และมี นักเรียนในบางกลุ่มโรงเรียนจะมีคะแนนต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆอย่างชัดเจน ทั้งนี้มาจากหลายปัจจัย ดังนั้น ถ้าเราสามารถที่จะลงไปร่วมทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนในกลุ่มนี้ เอาโรงเรียนในกลุ่มสาธิตนำร่อง พร้อมไปกับการลงไปทำงานร่วมกับโรงเรียนในกลุ่มต่างๆ และยกระดับโรงเรียนกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยขึ้นมาได้ คะแนนก็น่าจะดีขึ้น ขณะที่โรงเรียนตามพื้นที่จะให้มหาวิทยาลัยราชภัฎที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเข้าไปช่วย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเข้าไปช่วยยกระดับ” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ขณะที่ ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือการพัฒนาทักษะและความสามารถการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้พัฒนาผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและส่งเสริมการบูรณาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน และชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของเด็กไทย พร้อมปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียนและบริบทของสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์และเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ อีกทั้ง โรงเรียนสาธิตในสังกัดกระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและความฉลาดรู้ตามแนวทางของโครงการประเมินผลระดับนานาชาติ (PISA) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวง อว. ที่ต้องการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน PISA ในปี 2568 นี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.