เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) เปิดแผยว่า จากผลการประเมินระดับนานาชาติ PISA ของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และแนวโน้มของระบบการศึกษาไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโดยรวมแล้ว พบว่า ผลการประเมินของไทยยังคงมีความท้าทายและมีช่องว่างที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนไทยในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการประเมินครั้งก่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ ซึ่งมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ถึงแม้ว่านักเรียนไทยจะมีความสามารถในการทำงานร่วมกัน และมีความคิดสร้างสรรค์ในระดับหนึ่ง แต่ผลการประเมินยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนไทยยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ประกอบกับโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะที่จำเป็นในการทำงานและดำรงชีวิตในอนาคตก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนฯ PISA กล่าวต่อว่า ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวง อว.มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับผลการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) ด้วยการพัฒนาหลักสูตร ทักษะครู และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงผลการประเมินระดับนานาชาติในอนาคต โดยมีแนวทางสำคัญ คือ 1.กำหนดนโยบายและมาตรฐานระดับชาติ โดยการพัฒนากรอบหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาวิธีการสอนและเครื่องมือที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามแนวทาง PISA 2.พัฒนาครูผู้สอน เริ่มตั้งแต่การผลิตบัณฑิตหรือครูผู้สอนให้มีทักษะการสอนที่ทันสมัย สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะของครูและอาจารย์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียน 3. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและเครื่องมือการเรียนรู้ได้อย่างสะดวก รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และ 4. สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ขณะที่ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและยกระดับผลการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment) ของประเทศไทยในปี 2568 ซึ่งเป็นโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล สำนักงานปลัดกระทรวง อว.จะเน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียนหรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยจะใช้โรงเรียนสาธิตในสังกัดกระทรวง อว.เป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและความฉลาดรู้ตามแนวทาง PISA ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว.ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพสูง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.