“ศุภมาส” ระดมทุกหน่วยงานของกระทรวง อว.ช่วยน้ำท่วมภาคใต้ ส่งรถ Mobile War Room - ทีมปฏิบัติการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำของ สสน.เข้าประจำในพื้นที่แล้ว เปิดระบบแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงภัย 24 ชั่วโมง พร้อมข้อมูลภาพจากดาวเทียมทั้ง RADARSAT 2, SENTINEL และไทยโชต ส่งหน่วยงานรับผิดชอบ นำไปใช้ในการวางแผนช่วยประชาชน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่บริเวณภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี สตูล ยะลา นราธิวาส ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากในหลายแห่ง โดยปัจจุบันยังคงมีฝนตกต่อเนื่องทำให้น้ำยังคงล้นตลิ่งและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตนจึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำท่วม “อว.เพื่อประชาชน” สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งเน้นการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและแม่นยำ พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภาคใต้ ซึ่งขณะนี้รถ Mobile War Room พร้อมทีมปฏิบัติการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำของ สสน. ได้เข้าประจำในพื้นที่แล้ว และตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี โดยทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ข้อมูลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า ทีมงานของกระทรวง อว. จะทำหน้าที่สรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย โดยประสานข้อมูลแจ้งเตือนสถานการณ์ผ่านเครือข่ายต่างๆ เช่น เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จังหวัดชายแดนใต้, กอ.รมน.ภาค 4, อว.ส่วนหน้าภาคใต้ ขณะเดียวกัน ยังประชุมวางแผนเตรียมพร้อมรับมือและสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ เพื่อประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสรุปข้อมูลและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัย ผ่านกลุ่มไลน์เครือข่ายต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อม รวมถึงรายงานผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ThaiWater เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“นอกจากนี้ จิสด้ายังสนับสนุนข้อมูลภาพจากดาวเทียมหลายดวง อาทิ RADARSAT 2, SENTINEL และไทยโชต เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผน การเข้าสำรวจ การติดตาม และการประเมินความเสียหายต่อไป ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ด้วยข้อมูลภาพจากดาวเทียม ตั้งแต่วันที่ 21-27 พ.ย.67 พบว่ามีหลายจังหวัดภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมรวมแล้วกว่า 100,000 ไร่ ใน จ.สงขลา นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง และยะลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางแห่ง ทั้งนี้ การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังจิสด้าได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชาสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ พร้อมรายงานสรุปพื้นที่น้ำท่วมแต่ละจังหวัดเพิ่มเติมได้ที่ https://disaster.gistda.or.th“ น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า
ที่ผ่านมา กระทรวง อว. โดย สสน. ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและได้รายงานแจ้งเตือนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่เริ่มมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคใต้ และได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 13 พ.ย. คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม มีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้รายงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ เพื่อเตรียมตัวตั้งรับแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้กระทรวง อว.จะแจ้งเตือนเป็นระยะๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.