เมื่อวันที่ 28 พ.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ติดตามการดําเนินงานของกระทรวง อว.ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า ขณะนี้กระทรวง อว.และกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันจัดทำแผน 5 ปีในการผลิตครูนวัตกรให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยปีที่ 1 ตั้งเป้าให้ครู สกร. จำนวน 16,000 คน ได้พัฒนาทักษะ(Upskill) ปรับปรุงทักษะ(Reskill ) และเพิ่มทักษะ(Newskill) และปีที่ 2 เราจะสร้างครูนวัตกรให้ได้ จำนวน 15,000 คน ปีที่ 3 ครู นวัตกรจะสามารถนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านได้ไม่น้อยกว่า 50,000 เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่ปีที่ 4 ที่จะสามารถผลักดันให้เกิดหมู่บ้านนวัตกรรมให้ได้ 30,000 หมู่บ้าน และปีที่ 5 คือการก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนึ่งศูนย์หนึ่งอำเภอ ให้ได้ 879 อำเภอ
“การจัดทำแผน 5 ปีเป็นการต่อยอดคงวามสำเร็จจากจุดเริ่มต้นของครูนวัตกรในปี 2560 ที่กระทรวง อว. ร่วมกับ สกร. นำครู 31 คน ใน จ.เชียงใหม่ มาพัฒนาศักยภาพด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับชุมชน จนทำให้เกิดโครงการม่อนล้านโมเดล ที่เป็นต้นแบบโมเดลหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 23% จากนั้นในปี 2567 กระทรวง อว.และ สกร. ได้นำโมเดลความสำเร็จนี้มาขยายผล โดยนำร่องใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ ตาก และพิษณุโลก และมี 10 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่เข้าไปช่วยขับเคลื่อน ซึ่งได้มีนำองค์ความรู้ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาพัฒนาหลักสูตร Upskill/Reskill/Newskill หรือการพัฒนาทักษะ ปรับปรุงทักษะ และเพิ่มทักษะใหม่ให้กับครูเหล่านี้ เพื่อสร้างครูนวัตกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีทักษะเฉพาะด้านในการพัฒนาและแก้ปัญหาตามบริบทในพื้นที่ โดยอาศัยองค์ความรู้ด้าน อววน. มาบูรณาการศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการทำงานในพื้นที่ให้กับครู สกร. สู่การเป็นนวัตกรชุมชนที่เป็นที่พึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง” รมว.กระทรวง อว.กล่าว
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313