เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปี 2567 PMU - B Brainpower Congress 2024: Unlocking the Potential of Ignite Thailand ปลดล็อคศักยภาพคนไทยจุดประกายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมี ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รักษาการแทนผู้อำนวยการ บพค. ดร.จอห์น เจียง ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บพค. ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. อาจารย์ นักวิจัยและผู้เข้าร่วมงานประชุมกว่า 800 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
นางสาวสุชาดา กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนขับเคลื่อนโลกสู่ยุคเศรษฐกิจนวัตกรรม หรือ Innovation - Driven Economy สิ่งนี้นำมาซึ่งความจำเป็นในการพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น พลังงานสะอาด (Clean Energy) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) และเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการทำงานของเรา แต่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจและสังคมโลก การพัฒนากำลังคน (Brainpower) ให้สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมประเทศไทยให้พร้อมสู่ความท้าทายในอนาคต
กระทรวง อว. โดย บพค. ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของประเทศ อันเป็น Agenda - based issue พร้อมทั้งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างโอกาสด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม ผ่านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และการส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติ กระทรวง อว. มีนโยบายสำคัญด้านการพัฒนา “กำลังคน เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ควบคู่ไปกับ “วิจัย - นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ "เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green, พอเพียง, ความยั่งยืน (Sustainability), ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality), พลังงานสะอาด, ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย บพค. เป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนภายใต้กระทรวง อว. ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และได้ก่อเกิดขึ้นมาแล้วย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ภายหลังการปฏิรูปกระทรวง บพค. เน้นย้ำเรื่องสร้างคน คนที่เป็นมันสมองสำคัญของประเทศ ผู้ที่จะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับประเทศของเรา ผ่านการใช้งานวิจัยขั้นแนวหน้าที่สำคัญด้วยความร่วมมือระหว่างภาคีพันธมิตรทุกภาคส่วน
“การจัดงาน PMU-B Brainpower Congress 2024 ครั้งนี้ นับเป็นเวทีสำคัญที่รวบรวมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระดับสากลมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการรวมพลังสมองของคนไทยเพื่อปลดล็อกศักยภาพของประเทศและจุดประกายความคิดใหม่ ๆ ที่จะพาประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างมั่นคง และตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต” เลขานุการ รมว.อว. กล่าว
ด้าน ดร.สุรชัย กล่าวว่า บพค. ได้ดำเนินการพัฒนางานในทุก ๆ ศิลปวิทยาการ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และ อื่นด้าน ๆ ตั้งแต่งานชุมชนไปจนงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ โดยงานประชุมวิชาการ บพค. ในวันนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมการวิจัย แบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้จริง ยกระดับขีดความสามารถ สร้างความเข้มแข็งให้บุคลากรด้านงานวิจัย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.