เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (วศ.2534) ร่วมปาฐกถาพิเศษในงาน Intania Dinner Talk 2024 ภายใต้หัวข้อ “Leading through the World’s Crisis: เดินหน้าฝ่าวิกฤติโลก” จัดโดย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นงานที่เปิดโอกาสให้นิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ ที่เป็นผู้นำองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรม ร่วมเรียนรู้การปรับตัว รับมือกับความผันผวน และการสร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งจากประสบการณ์จริงและมุมมองเชิงลึก เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเข็มทิศสำหรับการเดินหน้าสู่ความสำเร็จในอนาคต พร้อมทั้งพบปะแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนิสิตเก่ารุ่นพี่และรุ่นน้อง โดยการแสดงวิสัยทัศน์จากวิทยากรระดับผู้นำในหลากหลายวงการระดับประเทศที่มีประสบการณ์การนำพาองค์กรและสังคมผ่านวิกฤติโลก ได้แก่ คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม (วศ.2530) กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี คุณอรกัญญา พิบูลธรรม (วศ.2530) ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งอเมริกา คุณปิติ ตัณฑเกษม (วศ.2531) กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล (วศ.2536) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี และคุณธีรนันท์ ศรีหงส์ (วศ.2525) ประธานกรรมการบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแสดงจากชมรมอนุรักษ์เพลงเชียร์ The Intania Ensemble และ Mini Concert จาก “แก้ม วิชญาณี” โดยมีนักธุรกิจแขนงต่าง ๆ และสื่อมวลชนร่วมงานกว่า 500 คน ณ ห้อง Grand Hall โรงแรม The Athenee Hotel กรุงเทพมหานคร
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า งานของกระทรวง อว. แบ่งเป็น 2 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านการอุดมศึกษา (อ.) ที่มีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้ประเทศ และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งมีการสร้างองค์ความรู้ในทุก ๆ ศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม เมื่อครั้งที่ดิฉันเข้ารับตำแหน่ง รมว.อว. ได้มอบนโยบายหลักในด้านการอุดมศึกษาคือ “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” เพื่อลดภาระนักศึกษา ผู้ปกครอง และอาจารย์ผู้สอน ระบบอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันต้องตอบโจทย์ผู้เรียนที่ไม่เฉพาะผู้เรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงผู้เรียนที่อยู่ในภาคการผลิตและบริการที่จะต้องการการ Reskill Upsill Newskill โดยสามารถเป็นการเรียนรู้ได้ทุกที่และทุกเวลา ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ในประเด็นสำคัญของประเทศ โดยให้เอกชนมีบทบาทนำและภาครัฐสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมต้องตอบโจทย์ประเทศ ทำให้ต้องมีนโยบายและแผนวิจัยในลักษณะ top-down ที่สามารถชี้ทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศได้
รมว.อว. กล่าวต่อว่า โดยผลงานด้านการปฏิรูปอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นแนวคิด “2 ลด 2 เพิ่ม” คือ ลดภาระ-ลดเหลื่อมล้า-เพิ่มทักษะ-เพิ่มโอกาส เพื่อให้การศึกษาเข้าถึงได้และมีคุณภาพ ผ่านมาตรการ Free TCAS และ Free TGAT ที่สำคัญกระทรวง อว. ได้พัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ผ่านระบบสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และนำมาเทียบโอนเพื่อสำเร็จการศึกษาได้ รวมไปถึง Skill Mapping (แผนที่ทักษะ) Skill Transcript (บันทึกทักษะ) และ Coop+ (สหกิจศึกษาพลัส) หรือ University in Factory ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาและประชาชนสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ได้ผลักดันโครงการสำคัญหลายโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น โครงการ “อว. for EV” “อว. for AI” และ “อว. for Semiconductor” โดยเน้นการสร้าง High-Skilled Workforce หรือกำลังคนทักษะสูงเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านกำลังคนเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเหล่านี้มาลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักด้านการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีในสังคมวงกว้าง ผ่านการจัดกิจกรรม "อว.แฟร์ Sci Power for Future Thailand" ทั้งในกรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสและเรียนรู้กับนวัตกรรมแห่งอนาคต และงาน “One Stop Open House 2024” ที่รวมสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศไว้ในที่เดียว เพื่อให้ข้อมูลการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแก่เยาวชนและผู้ปกครอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถาบันอุดมศึกษาหลาย ๆ แห่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลการเข้าศึกษาต่อ ทั้งสองงานนี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากนิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปอย่างมาก
“ขณะที่ แนวคิดใหม่ในการขับเคลื่อนกระทรวง อว. คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการพิจารณาการขอตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ เพื่อให้ผู้ที่ขอตำแหน่งศาสตราจารย์สามารถที่จะทราบถึงสถานะของการขอตำแหน่ง โดยจะจัดให้มีระบบในการตรวจสอบสถานะของการขอตำแหน่งผ่านระบบออนไลน์ และจะปรับปรุงระบบการพิจารณาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ด้านกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา กำลังอยู่ในระหว่างการผลักดันกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาที่จะเป็นกลไกสำคัญในการปรับบทบาทของระบบอุดมศึกษาสู่ระบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีโรงเรียนสาธิตอินเตอร์ในโรงเรียนสาธิตที่มีความพร้อม เพื่อตอบสนองกับความสำคัญของภาษาอังกฤษที่เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายด้านอุตสาหกรรมการศึกษาของประเทศไทย กระทรวง อว. จะทำให้การอุดมศึกษาไทยเป็นอุตสาหกรรมการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับภูมิภาค (Regional Higher Education Hub) โดยจะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยไทยหรือภาคเอกชนของประเทศไทย โดยร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อดึงดูดนักศึกษาในภูมิภาค ทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศอีกด้วย” นางสาวศุภมาส กล่าว
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายจรัส เล็กเกาะทวด
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.