เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการสมรรถนะสูงเพื่อพัฒนาสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ตลาดโลก (New Generation Trader : NGT) รุ่นที่ 3 และกิจกรรมการสร้างเครือข่ายพัฒนาผู้ประกอบการสมรรถนะสูเพื่อพัฒนาสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ตลาดโลก ประกอบด้วยการเสวนาแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการ ศักยภาพและความพร้อมของสินค้าไทยในเวทีโลก พร้อมแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่สุรนารี และผู้ประกอบการ NGT รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ราชการกระทรวง อว. รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว.เข้าร่วม ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า (โยธี) กระทรวง อว.
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. นอกจากจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของนักศึกษา ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ที่เน้นให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ผู้ประกอบการ และประชาชน สามารถกลับมา Upskill Reskill ในทักษะใหม่ ๆ ในยุคที่ภาคเศรษฐกิจมีอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น และธุรกิจออนไลน์เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการเช่นในปัจจุบัน โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่ดำเนินการ และประสบความสำเร็จคือ โครงการพัฒนา ผู้ประกอบการสมรรถนะสูงเพื่อพัฒนาสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ตลาดโลก หรือ New Generation Trader : NGT ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว รวม 2 รุ่น
รมว.อว. กล่าวต่อว่า โครงการ NGT รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ได้พัฒนาผู้ประกอบการสินค้า และพัฒนานักธุรกิจท้องถิ่นแล้วกว่า 126 ทีม มีผู้เข้าร่วม 294 คน สร้างยอดขายและมีการร่วมลงทุนมากกว่า 20 ล้านบาท และสามารถได้เปิดแพลตฟอร์มเพื่อเป็นช่องทางในการขายสินค้า เช่นใน Alibaba, eBay และ Amazon และ Taobao รวมถึงต่อยอด และเชื่อมโยงการพัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของกระทรวง อว. เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park), โครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นต้น อีกทั้งยังได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ จากที่ผู้เข้าร่วมได้ส่งผลงานเข้าประกวด เช่น รางวัล Gold Medal 2022 KAOHSIUNG International Invention & Design Expo จากไต้หวัน และรางวัล International Invention and Trade Expo จากประเทศอังกฤษ
น.ส.ศุภมาส ยังกล่าวอีกว่า โดยไฮไลต์ของโครงการ NGT รุ่นที่ 3 ในปี 2568 นี้ กระทรวง อว. ได้เน้นการพัฒนา และเพิ่มศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ ภายใต้หลักสูตรที่ออกแบบเฉพาะ ได้แก่ หลักสูตร Pre-course ซึ่งเปิดรับจำนวน 4,000 คน เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้นการทำธุรกิจยุคปัจจุบันผสานความร่วมมือกับทีมโค้ชภาคเอกชน ที่มีประสบการณ์ขายสินค้าไทยไปต่างประเทศ เช่น สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน สมาคมผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้ไทย เป็นต้น และหลักสูตร Deep course ผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 200 คน จะได้รับบ่มเพาะเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เชิงลึก เรียนรู้กลไก แทรนด์สินค้า มาตรฐานการส่งออก ร่วมกับภาคเอกชน เป็นต้น พร้อมทั้งการฝึกประสบการณ์ขายจริงร่วมกับภาคเอกชน โดยทีมโค้ชด้านการทำธุรกิจส่งออกและธุรกิจออนไลน์ ให้การ Coaching รวมถึงวิทยากรพิเศษให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ และทักษะต่าง ๆ มาทำการค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และขายสินค้าได้จริง
“พร้อมกันนี้ ยังจะขยายและกระจายสินค้าที่มีมาตรฐาน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นจากหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดประเทศจีน เป็นสินค้าการเกษตรผลไม้ที่มีมาตรฐาน กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา เน้นสินค้าสุขภาพและผลไม้เมืองร้อน กลุ่มประเทศ CLMV สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นต้น รวมถึงสร้างการรับรู้ของนานาประเทศ ที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ การลงทุนเพื่อพัฒนา Start-up เพื่อเป็นฐานต่อการพัฒนาประเทศให้ตรงจุด และมีประสิทธิภาพต่อไป” น.ส.ศุภมาส กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.