เมื่อวันที่ 24 ม.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เครือข่ายกรรมการสภา สถาบันอุดมศึกษาและผู้บริหารระดับสูง (สบส.) Retreat - Reunion ครั้งที่ 1 โดยมีนายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.อว. น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วม ที่โรงแรมดุสิตธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้เดินหน้าปฏิรูประบบอุดมศึกษามาโดยตลอด และพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา และปฏิรูประบบการบริหารสถาบัน ตลอดจนการปรับหลักสูตรและปรับการเรียนการสอนให้ทันสมัย ผ่านโครงการและมาตรการสำคัญต่าง ๆ อาทิ ศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค (Regional Education Hub), อว. For AI , ระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (Credit Bank) , หลักสูตรแซนด์บอกส์ (Sandbox) , โครงการสหกิจศึกษา (Coop+), Skill Mapping, Skill Transcript และการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ที่ผ่านมา ตนได้ประกาศนโยบายด้านการอุดมศึกษาในการพัฒนาและพลิกโฉม ประเทศไทย มุ่งเน้น “2 ลด 2 เพิ่ม“ ได้แก่ 1.ลดภาระ โดยมหาวิทยาลัยจะให้นักศึกษามีโอกาสทำงานได้เร็วที่สุด ส่งเสริมให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน ลดเวลาเรียนในมหาวิทยาลัยลงน้อยกว่า 4 ปี แต่ยังคงให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งปรับหลักสูตร Gen-ed ให้เรียนได้ตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยและสะสมไว้ในระบบคลังหน่วยกิต 2.ลดความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย สามารถเป็นผู้เรียนในระบบอุดมศึกษาได้ตลอดเวลา ทำให้ประเทศไทยเป็น "ประเทศแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life-Long Learning Nation" และสนับสนุนให้คนที่เรียนจบแล้ว หรือทำงานแล้ว สามารถกลับมาเรียนอีกได้ เพื่ออัพเดตความรู้ เป็นการ
Upskill, Reskill, New skill และสามารถเก็บเครดิตเพื่อไปสมัครงานใหม่ได้
รมว.อว. กล่าวต่อว่า 3.เพิ่มทักษะ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็น AI University โดยสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ที่ AI เป็นผู้สอนหนังสือ จะสามารถเป็นฐานการเรียนรู้หลักของประเทศที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้ ทุกที่ ทุกเวลา , ส่งเสริมให้มีหลักสูตรด้านผู้ประกอบการเพื่อปลูกจิตสำนึกความเป็นผู้ประกอบการ และเพิ่มทักษะทางด้านการเงินเพื่อให้นักศึกษาเป็น start-up อีกด้วย และ 4.เพิ่มโอกาส โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและผู้ใช้บัณฑิตให้มามีส่วนร่วมในการสอนในมหาวิทยาลัย เป็นการกำหนดหลักสูตรร่วมกัน และสามารถเข้าทำงานได้ทันทีระหว่างการเรียนและเมื่อเรียนจบ การทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยจะมีความคมชัดมากขึ้น เน้นเป้าหมายและมีการติดตามประเมินผลอย่างจริงจัง และที่สำคัญ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ เชื่อมโยงกับนานาชาติและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการดึงดูดให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคอย่างแท้จริง
“การจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบอุดมศึกษาได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคน พัฒนาองค์ความรู้ และขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน” น.ส.ศุภมาส กล่าว
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.