เมื่อวันที่ 6 ก.พ.68 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(MOST) ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญา ประดิษฐ์ (AI) ร่วมพัฒนาด้านเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศพร้อมเสริมศักยภาพประเทศไทยให้ก้าวสู่ศูนย์กลางด้าน AI ของภูมิภาค
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน(พ.ศ. 2565 -2569) ที่มุ่งขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมผ่านรูปแบบการแลกเปลี่ยนนักวิจัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญยังเป็นการประกาศความพร้อมของประเทศไทยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้าน AI ของภูมิภาค
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้ง 2 กระทรวง ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่มีภารกิจเกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยและบริษัทเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนนักวิจัย นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ที่จะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี AI โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งเป้าหมายใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการดำเนินงานวิจัยขั้นสูง (2) การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและพัฒนานักวิจัยและคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ (3) การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา AI และ (4) ความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ทั้งสองประเทศพัฒนาและแบ่งปันองค์ความรู้ด้าน AI ได้ในระยะยาว
“ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้คนไทยได้เรียนรู้ความเชี่ยวชาญและเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีน เช่น DeepSeek บริษัทสตาร์ตอัปด้าน AI จากประเทศจีน ที่ได้พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) เปิดให้ใช้งานแพลตฟอร์ม DeepSeek ที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลภาษา สร้างสรรค์เนื้อหาได้ผลเทียบเท่า Generative AI อื่น ๆ ในปัจจุบัน ด้วยต้นทุนการพัฒนาน้อยกว่าหลายเท่าตัว เพื่อให้ทุกคนเข้าถึง ใช้งาน AI ได้ง่ายในราคาประหยัดด้วยรูปแบบโอเพนซอร์ส (OpenSource) และยังรองรับการใช้งานภาษาไทย จึงเป็นโอกาสดีของนักพัฒนา ผู้ประกอบการ AI ไทย สามารถนำโมเดลนี้มาเรียนรู้ ต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจบริการ AI ได้ด้วยต้นทุนไม่สูงมาก รวมถึงการนำองค์ความรู้นี้มาศึกษา ค้นคว้า ในการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ (ThaiLLM) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์การใช้งานได้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป” นางสาวศุภมาส กล่าวและว่า
สาระสำคัญของความร่วมมืออีกประการหนึ่งคือการร่วมกันพัฒนาศูนย์ทดสอบมาตรฐานด้าน AI ระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างปลอดภัย น่าเชื่อถือ ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาส เสริมขีดความสามารถในแข่งขันของประเทศไทยบนพื้นฐานเทคโนโลยี จากการประยุกต์ใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการแห่งอนาคต พร้อมช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยี AI ขั้นสูง ส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรม นำมาสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลากหลายสาขา อาทิ ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การแพทย์อัจฉริยะ ระบบโลจิสติกส์และการขนส่ง ไปจนถึงการเกษตรแม่นยำ ซึ่งเป็นจุดแข็งของทั้งสองประเทศ
“นี่เป็นอีกก้าวสำคัญของไทยในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายการนำเทคโนโลยี AI มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนซึ่งสอดรับตามโยบาย "อว. for AI" ของกระทรวง อว.” นางสาวศุภมาส ระบุ
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.