เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของนักศึกษาจีนในประเทศไทย ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-จีน การประชาสัมพันธ์การอุดมศึกษาของไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน และการสรรหานักศึกษาชาวจีน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ไท่ จง เห๋อ เซวี่ย) หรือ Thai-China Education Partnership (TCEP) โดยมี ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนนักวิชาการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 18A ชั้น 18 อาคารอุดมศึกษา 2 สป.อว. (ศรีอยุธยา)
นายศุภชัย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของความร่วมมือไตรภาคี ระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และหารือแนวทางในการสรรหานักศึกษาจีนให้มาศึกษาต่อในประเทศไทย โดยประเทศไทยมีศักยภาพในฐานะศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของภูมิภาคอาเซียน และเป็นที่ยอมรับของนักศึกษาจีนเป็นอย่างมาก โดยในปัจจุบันมี นักศึกษาจีนกว่า 40,000 คน กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพของการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนากำลังคนและสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างสองประเทศอีกด้วย
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิภาพของนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจีนที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ การประชุมในวันนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการหารือและกําหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรรม เพื่อให้เกิดมาตรการด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักศึกษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักศึกษาจีนและครอบครัว โดยการประชุมนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย 19 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยชินวัตร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเนชั่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่เป็นพันธมิตรหลักของโครงการ TCEP รวมถึงผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่มาร่วมกันพัฒนาแนวทางสนับสนุนด้านความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย การยกระดับมาตรฐานที่พักอาศัยของนักศึกษา ตลอดจนระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน และการให้คำแนะนำด้านการใช้ชีวิตในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น เรายังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจว่านักศึกษาจีนที่มาเรียนในประเทศไทยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด โดยมีช่องทางในการให้คำปรึกษาและข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับมาตรฐานและโอกาสทางการศึกษา
“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมีความแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแต่ในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ยังรวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาในระยะยาวอีกด้วย TCEP จึงเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาจีนได้รับประสบการณ์การศึกษาที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยไทยก็สามารถเข้าถึงนักศึกษาที่มีศักยภาพจากประเทศจีนได้มากขึ้น กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนในการส่งเสริมให้นักศึกษาจีนเลือกที่จะมาเรียนในประเทศไทย โดยจะไปช่วยกำกับดูแลดูเรื่องมาตรฐานการศึกษา การให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของนักศึกษา การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกนักศึกษาขณะที่เรียนอยู่ในประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนการทำงานของ TCEP (Thai-China Education Partnership) ในการควบคุมดูแลคุณภาพของ Agency เพื่อป้องกัน Agency ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือ Fake agency และการส่งเสริมการทำงานร่วมกับ TAIS (Representative of China Education Network) ทั้งนี้ TAIS จะให้ทุน นศ ไทย 10 ทุนสำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีน โดยนักศึกษาสามารถเลือกสมัครไปยังมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ และตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่แข็งแกร่งและนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลความปลอดภัยของนักศึกษาจีนในประเทศไทยต่อไป” นายศุภชัย กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.