“ศุภชัย” ผู้ช่วย รมว.อว. ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. จ.เชียงราย ด้าน มรภ.เชียงราย ชู “มหาวิทยาลัยวัยที่สาม” พลิกโฉมการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกวัย ยกระดับการท่องเที่ยว-บริการเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในชุมชน
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในการนี้มี นายรุจติศักดิ์ รังสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชไมพร รัตนเจริญชัย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย พร้อมทั้งผู้บริหารหน่วยงานกระทรวง อว. หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
โดยเมื่อนายศุภชัย และคณะเดินทางไปถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้นำเสนอผลการดำเนินงานด้าน อววน. ผ่านการดำเนินงานทั้งด้านการจัดการศึกษาในระดับต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับความต้องการของผู้เรียนในท้องถิ่น การพัฒนางานวิจัย การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการบริการวิชาการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดเชียงรายในการเป็นเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ โดยเฉพาะโครงการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลักดันผลงานวิจัยจากอัตลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดเชียงราย และได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานการบูรณาการงานด้าน อววน. กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมจำนวนกว่า 20 บูธ ได้แก่
1) ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 2) ผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ภายใต้แผนงาน RAINS for Eastern Lanna Food Valley ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) 3) โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 4) โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ตามนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล เพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาหารระดับโลก และ 5) โครงการ “สันสลีโมเดล กับการบูรณาการแบบไร้รอยต่อ” ซึ่งเป็นการบูรณาการการบริการวิชาการ การวิจัย และการจัดเรียนการสอน ในหมู่บ้านสันสลี ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ได้ร่วมนำเสนอผลการขับเคลื่อนโครงการสำคัญด้าน อววน. ผ่านการรายงานและการจัดนิทรรศการภายในหอประชุมใหญ่ โอกาสนี้ นายศุภชัย ได้เป็นประธานมอบรางวัลชุมชนสร้างสรรค์ที่โดดเด่นจากการดำเนินงานด้าน อววน. และรางวัล Smart Student ประจำปี พ.ศ.2568 พร้อมทั้งมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ให้กับคณะผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรของทั้งสามมหาวิทยาลัย
จากนั้น ผู้ช่วย รมว.อว.และคณะ ได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบของการดำเนินงานด้าน อววน. ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้ดำเนินการร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย ผ่านโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกวัย การยกระดับการท่องเที่ยวและบริการเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในชุมชนดอยสะเก็น ชุมชนป่าตึงริมกก ชุมชนป่างิ้ว ชุมชนสันป่าก่อไทยใหญ่ การส่งเสริมการเกษตรปลอดภัย Farm to Table รวมถึงการยกระดับศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัย นครเชียงราย
ที่มาข้อมูล กองการสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.