กระทรวง อว. เดินหน้ายกระดับธรรมาภิบาลในการจัดการศึกษานานาชาติ มอบ วช. ร่วมมือกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พัฒนา “แพลตฟอร์มดิจิทัล” และ “คู่มือแนวปฏิบัติ” รองรับการขอวีซ่าของนักศึกษาต่างชาติ เพื่อป้องกันการใช้วีซ่าผิดประเภทและธุรกิจสีเทาที่แฝงตัวในแวดวงอุดมศึกษาไทย
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อยกระดับธรรมาภิบาล มาตรการป้องกันการใช้วีซ่าผิดประเภทของนักศึกษาต่างชาติ” ร่วมกับ นายจีรยุต สอนใจ นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ผศ.ดร.ฉัตร ปณิธิพงศ์วุฒิ โควอนสขี ผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันตำรวจเอกอดิศักดิ์ ปัญญา ผู้กำกับการ ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานดอนเมือง กองบังคับการตรวยคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นางสาวธิดารัตน์ กันยะติ หัวหน้าหน่วยกิจการนานาชาติ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเผยแพร่ผลงานวิจัยและการเสวนาวิชาการโครงการวิจัยนวัตกรรมเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลในการขอวีซ่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรี ดร.ชัชนันท์ ลีระเติมพงษ์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และผู้สนใจเข้าร่วมงาน ณ ห้องกรุงเทพบอลล์รูม ชั้น 2 โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพมหานคร
นางสาวสุชาดา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนหลักสูตรระยะสั้น (Non-Degree) ในสถาบันอุดมศึกษาไทยเพิ่มขึ้นมาก บางรายใช้วีซ่านักศึกษาเป็นช่องทางแฝงเข้าทำงานผิดกฎหมายในประเทศ จนนำไปสู่ข่าวเชิงลบและกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบอุดมศึกษาไทย เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้ลงนามในประกาศฯ กำหนด หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้นสำหรับนักศึกษาต่างชาติ พ.ศ. 2568 โดยกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาที่จัดหลักสูตรดังกล่าวต้องมีความพร้อมด้านคุณภาพหลักสูตร ส่งรายงานผลการดำเนินงานมายังกระทรวงฯ และดำเนินการตามกรอบระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักรไม่เกิน 180 วันต่อครั้ง
เลขานุการ รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้วางระบบกำกับติดตามเชิงรุก อาทิ การรายงานผลการเรียนและความก้าวหน้าแบบรายเดือน การเชื่อมโยงฐานข้อมูลนักศึกษาต่างชาติกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแบบเรียลไทม์ และการลงพื้นที่สุ่มตรวจสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรระยะสั้น เพื่อตรวจสอบการเรียนการสอนและสถานะพำนักของนักศึกษาอย่างเคร่งครัด
“เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ควบคุม แต่คือการยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยคัดกรอง สร้างความโปร่งใส และป้องกันไม่ให้ระบบการศึกษาไทยถูกใช้เป็นช่องทางในการทำผิดกฎหมาย” นางสาวสุชาดา กล่าว
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวจัดโดย วช. และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าและติดตามสถานะนักศึกษาต่างชาติ พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ภาครัฐใช้เป็นแนวทางควบคุมและป้องกันการใช้วีซ่าผิดประเภทในภาคการศึกษาต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.